การพาแมวนั่งรถคงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตลอดชีวิตของน้องแมวอาจประสบกับความเจ็บป่วย ต้องไปพบแพทย์ ย้ายที่อยู่ หรือแม้แต่การฝากโรงแรมแมว การ ฝึกแมวนั่งรถ จึงเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งที่เจ้าของควรเตรียมตัวให้น้องแมวมีความคุ้นชินก่อนจะต้องเดินทางจริง หากไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้าจะทำให้แมวเกิดความเครียดได้มาก

ฝึกแมวนั่งรถ มีความสำคัญอย่างไร
แมวเป็นนักล่า เป็นสัตว์กินเนื้อที่มีอาณาเขตของตัวเองอย่างชัดเจน พวกมันชอบทำอะไรเดิม ๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง รักและยึดมั่นในกิจวัตรประจำวันของตัวอย่างเป็นอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้แมวเกิดความเครียด-วิตกกังวลได้
รถยนต์ หรือการเดินทางออกจากอาณาเขต ย่อมทำให้แมวเกิดความเครียดได้หากไม่เคยได้รับการฝึกฝนทักษะมาก่อน ทั้งจากเสียงเครื่องยนต์ที่ส่งเสียงดัง สถานการณ์/สถานที่ในรถที่ไม่คุ้นเคย สิ่งเร้าภายนอกที่มองเห็นผ่านหน้าต่าง หรือแม้แต่ความเร็วที่เปลี่ยนแปลงไปขณะที่รถกำลังวิ่ง ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่แมวในธรรมชาติย่อมไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน
หากแมวไม่เคยผ่านการ ฝึกแมวนั่งรถ มาก่อน แมวอาจมีอาการวิตกกังวล กลัว กระวนกระวน ส่งเสียงร้องตลอดการเดินทาง แอบซ่อนตัว สั่นกลัว น้ำลายไหล หอบเหนื่อย หรืออาจถึงขั้นช็อคได้ และในการนั่งรถครั้งต่อ ๆ ไปก็อาจแย่ลงและยากลำบากมากขึ้น เพราะแมวมีภาพจำที่ไม่ดีกับการนั่งรถ
การช่วยน้องแมวเตรียมตัวด้วยการฝึกฝนก่อนจะทำให้แมวคุ้นเคย มีประสบการณ์ที่ดีกับการนั่งรถ รู้สึกว่าการนั่งรถไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ไม่ได้มีอันตราย หรือทำให้พวกเขาสูญเสียอาณาเขตไป
ขั้นตอนมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย !
ขั้นตอนการ ฝึกแมวนั่งรถ
1. สร้างความคุ้นเคยกับตะกร้าหรือกระเป๋าใส่แมวก่อน
มาทำให้กระเป๋า-ตะกร้าใส่แมว เป็นสถานที่ปลอดภัยของน้องแมวกันเถอะ!
การทำให้แมวคุ้นเคยกับกระเป๋าของเขาจะทำให้แมวเกิดความรู้สึกสบายใจ-ปลอดภัยเวลานั่งรถมากขึ้น ทำให้เจ้าของจัดการกับแมวได้ง่าย เพิ่มความปลอดภัยระหว่างการเดินทางมากขึ้นอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม : 8 เทคนิค ทำให้แมวคุ้นเคยกระเป๋า

2. สร้างความคุ้นเคยในรถ
การพาแมวสำรวจรถก่อนออกเดินทางจริง นอกจากจะช่วยทำให้แมวคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมในรถแล้ว ยังช่วยให้แมวผ่อนคลายมากขึ้น -รับมือกับการเดินทางได้ดียิ่งขึ้น แมวจะทำความคุ้นเคยหรือสร้างอาณาเขตด้วยการทิ้งกลิ่นของตนเองเอาไว้ หากมีกลิ่นของเขาในรถเขาจะรู้สึกอุ่นใจและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
- พาแมวมาสำรวจภายในรถ ให้แมวได้ดม เดินทั่ว ๆ และทิ้งกลิ่นของตัวเองเอาไว้ทั่วรถ โดยที่ยังไม่ติดเครื่องยนต์ เพื่อลดสิ่งเร้าที่จะกระตุ้นให้แมวเกิดความกลัวได้
- นำของเล่นชิ้นโปรดออกมา จากนั้นชวนแมวเล่นของเล่นในรถ เพื่อสร้างประสบการณ์ด้านบวกให้แมวจดจำได้ดี ทำให้แมวผ่อนคลาย สนับสนุนให้แมวได้ปลดปล่อยตามสัญชาตญาณ แมวจะรู้สึกว่าที่แห่งนี้ก็ไม่ได้เลวร้าย และนี่เป็นที่ของเขาจริง ๆ
- นำเอาของใช้ส่วนตัวของแมวขึ้นไปไว้บนรถด้วย ไม่ว่าจะเป็น ที่นอน ผ้า ตุ๊กตา หรือแม้แต่ที่ลับเล็บ การวางของใช้ที่แมวคุ้นเคยและมีกลิ่นของเขาเอาไว้จะช่วยให้แมวรู้สึกสบายใจ ผ่อนคลาย และรู้สึกว่านี่คืออาณาเขตของเขามากขึ้น
- ให้ขนมสุดโปรดภายในรถ เพื่อสร้างความทรงจำ-ประสบการณ์ที่ดีให้กับแมว
- ทำการฝึกนี้สั้น ๆ วันละ 5 นาที หลังทำเสร็จก็อย่าลืมให้ขนมหรืออาหารเป็นรางวัลด้วยนะ!
ควรทำซ้ำ ๆ หลาย ๆ ครั้ง จนกระทั่งแมวดูคุ้นเคยกับภายในรถ สบายใจ และผ่อนคลายมากขึ้น แมวแต่ละตัวใช้เวลาในการทำความคุ้นเคยไม่เท่ากัน บางตัวอาจใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 วัน แต่แมวบางตัวอาจใช้เวลานานถึงสัปดาห์หรือเดือนเลยทีเดียว เจ้าของควรเตรียมตัววางแผนล่วงหน้าและเตรียมตัว ฝึกแมวนั่งรถ ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากแมวคุ้นชินกับรถแล้วจึงค่อยทำขั้นตอนต่อไป
3. ก่อนออกรถ
แมวจำนวนไม่น้อยที่กลัวเสียงติดเครื่องยนต์ ทั้งเป็นเสียงที่ดัง มีความสั่นกังวาล และน่ากลัวคล้ายเสียงจุดระเบิด การทำให้แมวคุ้นชินกับเสียงนี้ก่อนจะต้องเดินทางจริงจะช่วยลดความวิตกกังวลและความเครียดได้มาก
- ในช่วงแรกให้ลองพาแมวขึ้นรถที่ถูกติดเครื่องยนต์ไว้อยู่แล้วก่อน ไม่ควรติดเครื่องยนต์ขณะที่แมวอยู่ในรถ เพราะอาจทำให้แมวเกิดความหวาดกลัว และมีประสบการณ์ไม่ดีได้
- หลังจากที่แมวเริ่มชินกับเสียงเครื่องยนต์แล้ว ลองให้ขนมขณะทำการติดเครื่องยนต์
- เปิดเพลงขณะทำการติดเครื่องยนต์
4. ขณะนั่งรถ
- ควรเริ่ม ฝึกแมวนั่งรถ จากระยะทางใกล้ ๆ ก่อน ไม่ควรรีบร้อนพาแมวเดินทางไกลตั้งแต่ครั้งแรก เริ่มฝึกจากการขับรถด้วยความเร็วต่ำ เคลื่อนที่ไปช้า ๆ ไม่เปลี่ยนความเร็วขณะเคลื่อนที่มากนัก และเลือกสถานที่ที่เงียบสงบ ไม่พลุกพล่าน หรือเป็นถนนที่มีรถอื่นวิ่งมากจนเกินไป
- ชม และให้ขนมเป็นรางวัลแมวเป็นช่วง ๆ ขณะที่นั่งอยู่ในรถ
- ชวนแมวดูสิ่งเร้าภายนอกด้วยการสร้างสิ่งเร้าเชิงบวก เช่น ใช้ของเล่นช่วยนำทาง ใช้ขนมหลอกล่อ ชี้ให้แมวดูนกหรือต้นไม้ที่เขาคุ้นเคย
- เปิดเพลงคลอเบา ๆ ในรถ เพลงจำพวกดนตรีบรรเลงคลาสสิคจะช่วยให้แมวสงบและผ่อนคลายมากขึ้น
- คอยใช้โทนเสียงนุ่มนวลพูดคุยกับแมวอยู่เรื่อย ๆ ตลอดการนั่งรถ เพื่อให้แมวผ่อนคลายและอุ่นใจ
- คอยสังเกตปฏิกิริยาของแมวขณะที่นั่งรถ หากเริ่มมีความกระวนกระวาย มีสัญญาณความเครียดเกิดขึ้น ให้จบการฝึกแล้วพาน้องแมวกลับบ้านก่อน ไม่ควรฝึนแมวให้ทำต่อ เนื่องจากจะทำให้แมวเครียดแล้วกลายเป็นประสบการณ์ด้านลบแทนที่จะเป็นประสบการณ์ดี ๆ ที่น่าจดจำ
- ควรเริ่มฝึกจากระยะเวลาสั้น ๆ ก่อน เช่น ครั้งแรกไม่เกิน 10 นาที เมื่อแมวทำได้ดี ในครั้งต่อไปจึงค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาการฝึกให้มากขึ้นทีละนิด
5. ก่อนจบกิจกรรม
ก่อนจบกิจกรรมทุกครั้ง ควรกล่าวชมด้วยคำชมที่ใช้ประจำเพื่อให้แมวจดจำคำชมได้ และให้รางวัลแมวด้วย เพราะแมวเป็นสัตว์ที่เรียนรู้จากการเชื่อมโยงเชิงบวก (Positive Reinforcement) นั่นคือการใช้ของที่แมวชอบ เพื่อกระตุ้นหรือเหนี่ยวนำให้แมวทำพฤติกรรมที่เหมาะสมซ้ำอีกครั้งนั่นเอง
หากเป็นแมวที่ชอบการสัมผัส สามารถใช้การเกา-ลูบในบริเวณที่แมวชอบเป็นรางวัลได้ หรือหากแมวชอบกินขนมก็สามารถใช้ขนมได้เช่นกัน
6. ขึ้นรถ...ไม่ได้แปลว่าไปหาหมอ
หากแมวนั่งรถทุกครั้งคือการพาไปหาหมอ แมวจะเรียนรู้ว่าการนั่งรถจะตามมาด้วยความเจ็บปวดหรือความหวาดกลัว แมวจะจดจำและกลับมาเกลียดการนั่งรถอีก ดังนั้นการพาแมวนั่งรถเล่นเป็นระยะ ๆ บ้างแม้จะไม่มีกิจให้ต้องพาแมวไปที่ไหน จะช่วยทำให้แมวเรียนรู้ว่าการนั่งรถไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไป

การนั่งรถไม่ใช่ประสบการณ์เลวร้ายสำหรับแมวเสมอไป
การเดินทางไกล
การเดินทางไกลเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ชั่วโมงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับทั่งแมวและเจ้าของมาก จึงมีการเตีรยมตัวที่จะต้องจัดการมากขึ้น
- ควรเตรียมน้ำ อาหาร และกระบะทรายพกพาได้ในรถด้วย ตำแหน่งที่เหมาะสมในการวางกระบะทรายคือบริเวณที่วางเท้าด้านหลัง เพราะเป็นตำแหน่งที่นิ่งที่สุดภายในรถ
- อาจจอดแวะพักทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้แมวได้พักเข้ากระบะทราย กินน้ำ กินขนม และชวนแมวเล่นคลายเครียด ทำให้แมวผ่อนคลายมากขึ้น
- ควรเตรียมประวัติโรคประจำตัว และสมุดวัคซีนของแมวไปด้วย เผื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น
ข้อควรระวัง
- เพื่อความปลอดภัย ควรให้แมวอยู่ในกรง กระเป๋า หรือเบาะนั่งสำหรับแมวตลอดการเดินทาง
- ควรใส่ที่รัดอก (Harness) ไว้ ตลอดเวลาขณะนั่งรถ ล็อคสายเข้ากับตัวล็อคของกรงทุกครั้ง เพื่อไม่ให้แมวเดินไปทั่วรถขณะที่เจ้าของกำลังขับรถอยู่
- ใส่เครื่องติดตามจำพวก GPS หรือจี้ห้อยคอที่ระบุช่องทางการติดต่อเจ้าของ เพื่อป้องกันกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น แมวหลุดหาย ประตูรถปิดไม่สนิท หรือแม้แต่มีกรณีรถชนทำให้กระจกหรือประตูเสียหายจนแมวตกใจและหนีออกไป การใส่เครื่องติดตามจำพวกนี้ก็จะช่วยให้เจ้าของตามหาแมวจนเจอ หรือหากมีคนพบแมวก็จะสามารถส่งคืนแมวได้
- ไม่ควรปล่อยให้แมวเดินไปมาในรถ โดยเฉพาะเวลามีคนขับรถคนเดียว อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ และอาจก่อความเดือดร้อนต่อผู้ใช้รถใช้ถนนท่านอื่นอีกด้วย
- ก่อนจะเปิดหน้าต่าง-ประตูรถทุกครั้ง ควรเช็คซ้ำอีกครั้งว่ากรงที่แมวอยู่ปิดสนิทดี แมวยังอยู่ในกรง เพื่อป้องกันการหลุดหาย
- ควรขับรถช้า ๆ หลีกเลี่ยงการเพิ่มความเร็วที่รวดเร็วจนเกินไป เสียงเร่งเครื่องยนต์จะทำให้แมวตกใจและตื่นกลัวได้ง่าย
อุปกรณ์เสริม...ตัวช่วย!
สิ่งของเหล่านี้อาจเป็นตัวช่วยทำให้แมวผ่อนคลายและลดความเครียดได้ แต่จะได้ผลกับแมวบางตัวเท่านั้น ควรลองหลาย ๆ แบบและสังเกตความชอบของแมวเรา
- แคทนิปแมว/กัญชาแมว
- มาทาทาบิ
- ปลอกคอลดความเครียด
- ฟีโรโมนแมว Feliway
- เปิดเพลงดนตรีบรรเลงคลาสสิคระหว่างการนั่งรถ
- ใช้ Thundershirt เป็นเสื้อพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อให้โอบอุ้มรอบตัวแมวอย่างพอดีและไม่ขัดขวางการเคลื่อนไหว ทำให้แมวอุ่นใจ รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น (ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย)
สรุป
การนั่งรถครั้งแรกอาจเป็นประสบการณ์ที่ดีหรือเลวร้ายสำหรับแมวก็ได้ ซึ่งอาจทำให้แมวเกิดความเครียดได้มากจนอาจเป็นอันตรายกับสภาวะร่างกายได้ แต่หากเจ้าของมีการเตรียมตัว ค่อย ๆ ฝึกแมวนั่งรถ ทั้งขั้นตอนการเตรียมความคุ้นเคยกับกระเป่าใส่แมว การพาแมวทำความคุ้นเคยกับรถ ตลอดจนการสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับแมวขณะนั่งรถ จะช่วยให้แมวมีประสบการณ์ที่ดี ไม่หวาดกลัว ไม่จดจำว่าการขึ้นรถคือการไปพบหมอ ก็จะทำให้การนั่งรถเป็นเพียงแค่เรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตของแมวเท่านั้น ทั้งนี้เจ้าของก็ควรหมั่นสำรวจความปลอดภัยของแมวสม่ำเสมอทุกครั้งของการนั่งรถ
© All Rights Reserved.