หลังจากเราทำความเข้าใจการปัสสาวะของแมว และสาเหตุทำไม แมวฉี่นอกกระบะ หรือปัสสาวะไม่เป็นที่แล้ว บทความนี้เราชวนมาแก้ไขปัญหากันดีกว่า! ทุกปัญหามีทางแก้เสมอ และอยากให้เจ้าของทุกท่านพึงระลึกไว้…แมวเองก็ไม่ได้อยากอยู่ในสภาวะเครียด หรือสภาวะที่ไม่ปกติเช่นกัน แมวพร้อมจะให้ความร่วมมือกับคุณเสมอ…หากคุณเข้าใจและใส่ใจเขาเพียงพอ
หากใครยังไม่ได้อ่านบทความที่แล้ว เราขอแนะนำให้อ่านก่อน เพื่อที่จะได้เข้าใจ และหาสาเหตุได้ถูกต้อง และตรงจุดนะ!
คลิก ที่นี่ เพื่ออ่านบทความเรื่อง ทำไมแมวฉี่นอกกระบะ!?

วิธีแก้ไข แมวฉี่นอกกระบะ
1. พบแพทย์ก่อน
หากไม่มั่นใจว่าแมวของคุณป่วยหรือไม่ ให้พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อหาความผิดปกติทางกายก่อนเป็นอันดับแรก เพราะการปัสสาวะไม่เป็นที่ก็อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณของโรคต่าง ๆ มากมาย ไม่ใช่เพียงโรคทางเดินปัสสาวะเท่านั้น อาจเกิดมาจากความเครียดของโรคที่ทำให้แมวไม่สบายตัวอื่น ๆ ก็เป็นได้
หากตรวจพบได้รวดเร็วก่อนที่โรคจะลุกลามไปไกลหรือมีอาการหนัก ก็ช่วยให้ผลการรักษาออกมาดี น้องแมวเจ็บตัวน้อย และช่วยทาสประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยนะ !
2. ตรวจสอบสาเหตุ
หากผ่านการตรวจโดยสัตวแพทย์แล้วไม่พบความผิดปกติ ให้ลองนึกย้อนพฤติกรรมของแมวที่เกิดขึ้น จดบันทึกเกี่ยวกับการใช้กระบะทรายของแมวทุกวัน รวมถึงสถานการณ์ทั้งหมดภายในบ้านที่เกี่ยวข้อง จะช่วยให้คุณมองภาพรวมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
- ดูลักษณะและปริมาณการปัสสาวะ ขณะที่ แมวฉี่นอกกระบะ – เป็นการนั่งปัสสาวะปกติ หรือเป็นการสเปรย์บนพื้นผิวแนวตั้ง
- สถานที่หรือจุดที่แมวปัสสาวะ – ลองทำเครื่องหมายในบริเวณที่แมวปัสสาวะไม่เป็นที่เอาไว้ เก็บข้อมูลว่าแมวมักจะปัสสาวะในจุดเดิม ๆ ซ้ำ ๆ หรือมีความเชื่อมโยงของแต่ละจุดที่ทำการปัสสาวะหรือไม่ เช่น เป็นจุดมืด เงียบ หรือเป็นพื้นผิวลักษณะเดียวกัน เป็นต้น
- ติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อดูพฤติกรรมของแมวขณะปัสสาวะนอกกระบะเมื่อเจ้าของไม่อยู่บ้าน หรือดูสถานการณ์โดยรอบ คุณอาจพบว่ามีแมวจรหรือแขกไม่ได้รับเชิญมาเยี่ยมเยียนรอบ ๆ บ้านบ่อย ๆ ก็เป็นได้
- สังเกตความเปลี่ยนแปลงภายในบ้าน เสมอ การจดบันทึกกิจกรรม และการให้อาหารแมวทุกวันจะช่วยให้คุณสังเกตสิ่งเหล่านี้ได้ละเอียดและชัดเจนมากยิ่งขึ้น
3. ทำความสะอาดบริเวณที่ แมวฉี่นอกกระบะ
หากยังมีกลิ่นปัสสาวะตกค้างอยู่ มีโอกาสสูงมากที่แมวจะกลับมาปัสสาวะซ้ำที่เดิม และเมื่อแมวทำที่เดิมซ้ำ ๆ แมวจะเริ่มชินกับบริเวณและพื้นผิวที่ปัสสาวะจนติดเป็นนิสัยได้ จึงควรทำความสะอาดบริเวณนี้ให้สะอาดหมดจด ไม่หลงเหลือกลิ่นที่จะกระตุ้นให้แมวมาปัสสาวะซ้ำได้ อาจเลือกใช้เป็นผลิตภัณฑ์กำจัดกลิ่นที่มีส่วนผสมของเอนไซม์ช่วยสลายกลิ่นได้ดี หรือสารจำพวกเบคกิ้งโซดา (Sodium bicarbonate/Bicarb soda) และน้ำส้มสายชู สามารถช่วยดักจับและกำจัดกลิ่นได้ดี

4. เช็คกระบะทราย
- ขนาดกระบะทรายที่เหมาะสม : ส่วนมากแมวชอบกระบะทรายขนาดใหญ่ เพื่อที่จะกลับตัวและกลบทรายได้สะดวก
- ทำความสะอาดกระบะทรายเป็นประจำ
- มีจำนวนกระบะทรายให้เพียงพอกับจำนวนสมาชิกแมวในบ้าน : สูตรจำนวนกระบะทราย = แมว + 1 นั้นเป็นเพียง ขั้นต่ำ เท่านั้น หากในบ้านมีแมวที่มีปัญหา ฉี่นอกกระบะ ควรเพิ่มจำนวนกระบะทรายให้มากขึ้น และวางกระจายให้ครอบคลุมทุกบริเวณที่แมวสามารถเข้าถึงได้
- ตรวจสอบสถานที่วางให้เหมาะสม : การวางกระบะทรายทุกกระบะกองรวมกันที่จุดใดจุดหนึ่งนั้นไม่ช่วยอะไร แมวจะมองว่าเป็นกระบะทรายขนาดใหญ่เพียงอันเดียวเท่านั้น นอกจากนี้อย่าลืมวางกระบะทรายให้กระจายทั่วทุกบริเวณที่แมวใช้ชีวิตอยู่…ซึ่งรวมถึงห้องนอนของมนุษย์ด้วย!
- รูปทรงกระบะทราย…เป็นแบบที่แมวชอบหรือไม่ : กระบะทรายมีหลากหลายรูปแบบ ควรเลือกแบบที่แมวสบายใจที่จะใช้งานมากที่สุด
- เช็คทรายแมว : ทรายแมวมีหลายประเภท และยังมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกมากที่ควรพิจารณา แค่เรื่องกลิ่นเพียงเล็กน้อยก็ทำให้แมวไม่ยอมใช้ได้แล้ว!
5. ป้องกันผู้บุรุกอาณาเขตจากภายนอก
ในกรณีที่แมวใช้ปัสสาวะในการแสดงอาณาเขตหรือทำเครื่องหมายเพื่อเตือนผู้บุกรุก การป้องกันไม่ให้ผู้บุกรุกมาทำให้น้องแมวของเรารู้สึกกระวนกระวาย-รู้สึกไม่ปลอดภัยจากอาณาเขตถูกคุกคาม ดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุด
- ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดเสมอ
- เก็บแมวของเราไว้ในห้องที่จะไม่เห็นผู้บุกรุก หรือปิดม่านเป็นเวลา ส่วนมากผู้บุกรุกมักจะมาเวลาเดิม ๆ ของวัน
- ทำรั้วบ้านให้สูงขึ้น หรือใช้ตะแกรงกั้นระหว่างช่องว่างของรั้ว ก็พอจะช่วยให้ผู้บุกรุกเข้ามาได้ยากขึ้น

6. แก้ปัญหาระหว่างแมว-แมว
ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างแมวเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนมาก ด้วยธรรมชาติของแมวเป็นสัตว์ที่อยู่อาศัยและออกล่าเหยื่อเพียงลำพัง พวกมันไม่ได้รวมกลุ่มกันเป็นกิจวัตร การเข้าสังคมของแมวไม่ได้เป็นจุดเด่นของพวกมันเลย แต่แมวเป็นสัตว์ที่ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดได้ดีมาก พวกมันจึงเริ่มเรียนรู้และปรับตัวเมื่อมีแหล่งอาหาร-ทรัพยากรจำเป็นมากเพียงพอ
แมวยังเป็นสัตว์นักล่าตัวฉกาจ เขี้ยวเล็บ และสรีระทุกส่วนล้วนถูกออกแบบมาเพื่อการล่าเหยื่อ แมวจึงเป็นสัตว์ที่ใช้สัญชาตญาณสูงมาก ทำให้มีพฤติกรรมหลายประการที่ดูจะเป็นความรุนแรงถูกแสดงออกมาเมื่อพวกมันรู้สึกถึงสิ่งที่ผิดปกติไป
อ่านเพิ่มเติม – แมวทะเลาะกัน ควรทำอย่างไร
7. ทำให้เข้าถึงบริเวณ แมวฉี่นอกกระบะ ยากขึ้น
โดยเฉพาะในกรณีที่แมวเริ่มชินกับบริเวณและพื้นผิวที่ทำธุระจนเกิดความเคยชินแล้ว การทำให้สถานที่เหล่านั้นเข้าถึงยากขึ้นเป็นการจูงใจทางอ้อมให้แมวรู้สึกว่าสถานที่แห่งนั้นไม่น่าใช้งานอีกต่อไปแล้ว ร่วมกับการให้รางวัลเมื่อแมวเข้ากระบะอย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้ผลลัพธ์ที่ดีได้มากขึ้น
- แมวชอบปัสสาวะใส่พรมหรือผ้า: ให้นำพรมหรือผ้านั้นออก
- แมวชอบปัสสาวะบนพื้นหรือผนัง: ให้ปิดห้องที่แมวชอบไปทำธุระให้เข้าไม่ได้ หรือเลื่อนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่มาบังบริเวณนั้นไว้
- แมวชอบปัสสาวะบนที่นอน/เบาะ/โซฟา: ใช้เทปกาวสองหน้าติดบนพื้นผิว แมวไม่ชอบสัมผัสของกาวสองหน้าเหนียว ๆ และจะพยายามหลีกเลี่ยง ควรเตรียมกระบะทรายที่เหมาะสมไว้ในบริเวณข้างเคียงทดแทนด้วย
หนึ่งในสิ่งที่เจ้าของหลายท่านมองข้าม นั่นคือการเตรียมกระบะทรายไว้ในห้องนอน บ้านที่ไม่มีกระบะทรายในห้องนอน หลายครั้งที่เราพบว่าแมวมักมีพฤติกรรมปัสสาวะนอกกระบะใส่ที่นอน/ฟูกนอนของมนุษย์ …คุณลองจินตนาการดูว่าหากคุณอยากเข้าห้องน้ำกลางดึกแต่ห้องน้ำอยู่ไกล คุณก็ไม่ค่อยอยากจะขยับตัวเดินไปใช่ไหม? แมวก็เช่นกัน และนี่ก็เป็นวิธีสื่อสารของเขาล่ะ!

8. วางกระบะทรายทับบริเวณนั้น
หากจุดที่แมวชอบปัสสาวะนอกกระบะ เป็นจุดที่สามารถขยับเลื่อนเฟอร์นิเจอร์ได้ หรือเป็นพื้นที่ว่าง ให้นำกระบะทรายไปวางแทนที่ จะได้ผลดีมากในกรณีที่แมวติดนิสัยการปัสสาวะในสถานที่นั้นไปแล้ว
9. เปลี่ยนประสบการณ์เข้ากระบะ...ด้วยการฝึก!
แมวบางตัวอาจมีประสบการณ์ไม่ดีจากการเข้ากระบะทรายจนกลายเป็นเหตุการณ์ฝังใจ เช่น เคยเจ็บป่วยเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่ปัสสาวะ ซึ่งแมวอาจมีภาพจำว่าการใช้กระบะทรายทำให้เจ็บปวดได้
ในกรณีเหล่านี้สามารถใช้การฝึกเพื่อเปลี่ยนความรู้สึกที่แมวมีต่อการเข้ากระบะทราย จากด้านลบให้มีประสบการณ์ด้านบวกใหม่ ๆ ก็จะช่วยจูงใจแมวได้มากขึ้น เรียกการฝึกแบบนี้ว่าการทำ Counter-conditioning
- ใช้ขนมที่แมวชอบมาก ๆ มาเป็นรางวัล และให้เฉพาะการฝึกนี้เท่านั้น
- งดขนมเวลาอื่นทั้งหมด เพื่อเพิ่มแรงจูงใจและเพิ่มมูลค่าให้ขนมที่ใช้
- เมื่อแมวใช้กระบะทรายเสร็จ ให้พูดชม และให้ขนมเป็นรางวัล ‘ทันที’ ที่ก้าวออกมาจากห้องน้ำ พยายามทำทุกครั้ง สม่ำเสมอ ทำต่อเนื่องอย่างน้อยประมาณ 1 สัปดาห์แมวจะเริ่มเรียนรู้และเชื่อมโยงว่าการเข้าห้องน้ำ = ขนม = เรื่องดี ๆ
- เวลาเล่นของเล่นกับแมว ให้ใช้ของเล่นล่อไปบริเวณใกล้ ๆ กับที่กระบะทรายตั้งอยู่ จะช่วยทำให้แมวรู้สึกคุ้นเคย และเพิ่มความรู้สึกดีต่อกระบะทรายให้มากขึ้น
ระยะเวลาการฝึกขึ้นกับแมวแต่ละตัว ซึ่งอาจใช้เวลานานหลายเดือนเลยก็เป็นได้ อดทน ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าแมวจะยินยอมใช้กระบะทราย แล้วจึงค่อยลดการให้ขนมเป็นรางวัลลง
สรุป
ปัญหา แมวฉี่นอกกระบะ สามารถแก้ไขได้ เจ้าของควรใส่ใจต่อพฤติกรรมและสิ่งต่าง ๆ รอบตัวของแมว หากไม่มั่นใจว่าแมวมีความเจ็บป่วยหรือไม่ แนะนำให้พาแมวไปตรวจโดยสัตวแพทย์เพื่อหาโรคทางกายก่อน หากแมวของคุณสบายดีไม่มีโรคใด ๆ ควรตรวจสอบหาสาเหตุของพฤติกรรม ตรวจดูสภาพแวดล้อม ความเหมาะสมของกระบะทรายและทรายแมว การบุกรุกอาณาเขตของแมวต่างถิ่น ปัญหาการทะเลาะกันระหว่างแมวในบ้าน ทรัพยากรกรของแมวแต่ละตัวเพียงพอหรือไม่ และการฝึกแมวก็เป็นหนทางที่จะช่วยแก้ปัญหา แมวฉี่นอกกระบะได้
© All Rights Reserved.