วิธีเลือก อาหารเม็ด สำหรับแมว

อาหารเม็ด ยังคงเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมสูงสุด ทั้งการผลิต การขนส่ง การเก็บรักษา และต้นทุนที่ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับอาหารสัตว์ในรูปแบบอื่น ตลาดอาหารเม็ดจึงมักจะมีหลากหลาย มีบริษัท และผู้ผลิตมากมายที่แข่งขันกันออกผลิตภัณฑ์และทำการตลาด เราขอชวนเจ้าของน้องแมวทุกท่านมารู้จักข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงวิธีเลือกอาหารเม็ดคุณภาพดีจากส่วนผสมและวัตถุดิบ …ไม่ใช่จากคำโฆษณาหรือการตลาด

เลือก อาหารเม็ด อาหารแมว

ทำความรู้จักอาหารเม็ด

อาหารเม็ด (Dry kibble/Dry food) เป็นอาหารแมวที่ผ่านการปรุงสุก โดยนำวัตถุดิบมาผ่านกระบวนการความร้อนในอุณหภูมิที่สูงมาก อาจใช้ความร้อนสูงถึง 300 องศาฟาเรนไฮน์เลยทีเดียว จากนั้นจะมีการเติมคาร์โบไฮเดรตเพื่อช่วยในการขึ้นรูปอาหารเป็นโดว์ (Dough) และมีการนำโดว์ที่ได้ไปผ่านความร้อนสูง และแรงดันอีกครั้ง จากนั้นนำมาตัดให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ แล้วนำไปอบเพื่อไล่ความชื้นในขั้นตอนสุดท้าย อาจมีการเติมแต่งรสหรือกลิ่นเพิ่มเติม เนื่องจากวัตถุดิบมีการผ่านกระบวนการความร้อนหลายครั้งทำให้กลิ่นจากวัตถุดิบจางลงไปมากนั่นเอง

การผ่านความร้อนหลายขั้นตอนและการอบในขั้นตอนสุดท้าย จึงทำให้อาหารเม็ดมีความชื้นหลงเหลือในอาหารต่ำมาก ๆ ซึ่งช่วยให้ถนอมอาหาร มีอายุอาหารยาวนานในบรรจุภัณฑ์ ไม่เน่าเสียได้ง่าย แต่ก็เป็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยในเวลาเดียวกัน

กระบวนการ อาหารเม็ดแมว

อาหารเม็ด มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร !?

ข้อดี

  • เจ้าของใช้งานสะดวก
  • อายุเก็บรักษายาวนาน
  • สามารถวางทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องได้
  • มีให้เลือกหลากหลาย
  • ราคาถูกกว่าอาหารประเภทอื่นในสารอาหารที่เท่ากัน

ข้อเสีย

  • ความชื้นในอาหารต่ำมาก ทำให้แมวได้รับสารน้ำน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการกินอาหารตามธรรมชาติ
  • มีสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตสูง
  • กระบวนการผลิตมีการใช้ความร้อนสูงหลายขั้นตอน ทำให้คุณภาพของแร่ธาตุและวิตามินอาจลดลง
อาหารแมว ชนิดเม็ดสำเร็จรูป

วิธีเลือกอาหารเม็ด

เจ้าของหลายคนอาจจะเคยได้ยินคำโฆษณาเรียกประเภทอาหารเม็ดต่าง ๆ เช่น ‘เกรดโฮลิสติก’ ‘เกรนฟรี’ ‘เกรดพรีเมียม’ ฯลฯ แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคำกล่าวอ้างทางการตลาด ไม่มีมาตรฐานการแบ่งแยกเกรดอย่างชัดเจน

สิ่งที่สามารถบ่งบอกคุณภาพของอาหารแมวได้อย่างเป็นมาตรฐานสากล คือ ‘ฉลากโภชนาการ’ ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่

    1. ส่วนประกอบ (Ingredients)
    2. โภชนาการ (Nutrition)
    3. พลังงานในอาหาร (Calories) – ปริมาณอาหารที่แนะนำเทียบกับน้ำหนักตัว
    4. การรับรองคุณภาพ (AAFCO statement)

1. ส่วนประกอบ (Ingredients)

แมวเป็นสัตว์กินเนื้อเพียงอย่างเดียว (Obligate Carnivore) แน่นอนว่าส่วนประกอบหลักที่ควรนำมาพิจารณาเป็นอันดับแรกในอาหารแมว นั่นคือ ‘เนื้อสัตว์’

โดยสามารถแบ่งคุณภาพของเนื้อสัตว์ที่นำมาทำอาหารแมวออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ Meat, Meat meal และ Meat by-product

1) เนื้อสัตว์สด (Fresh meat)

เป็นเนื้อสัตว์สดโดยจะรวมหรือไม่รวมกระดูกก็ได้ อาจใช้สัตว์เป็นบางส่วนหรือทั้งตัว ซึ่งบางแบรนด์จะมีการระบุว่าใช้ส่วนใดของสัตว์บ้าง เช่น เนื้อไก่ ตับไก่ ฯลฯ หรือใช้คำว่า Whole คือใช้สัตว์ทั้งตัว วัตถุดิบจากเนื้อสัตว์สดมักจะมีการคัดสรรและคัดส่วนดีในสภาพสมบูรณ์มาทำ ไม่ใช่การใช้ของเหลือจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ

โปรตีนจากเนื้อสัตว์สดจะให้คุณค่าทางสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุตามธรรมชาติมากที่สุด เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดีที่สุด ร่างกายแมวสามารถดูดซึมและนำไปใช้ได้ดี

เนื้อสัตว์สดจะมีกระบวนการแปรรูป การขนส่งวัตถุดิบ และการเก็บรักษาความสดของอาหารที่มีกระบวนการยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น อาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบนี้จึงมักจะมีราคาที่สูงกว่า

อาหารเม็ด อาหารแมว

2) เนื้อสัตว์ป่น (Meat meal)

เป็นผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการป่นแห้งโดยใช้ความร้อน อาจรวมหรือไม่รวมกระดูกก็ได้ ใช้สัตว์เป็นบางส่วนหรือทั้งตัวมาทำก็ได้เช่นกัน แต่จะไม่สามารถทราบอัตราส่วนของอวัยวะต่าง ๆ ที่นำมาใช้ทำอาหารสัตว์ได้

เนื้อสัตว์ประเภทนี้เนื่องจากผ่านความร้อนหลายขั้นตอนก่อนจะออกมาเป็นอาหารเม็ดมากกว่าการใช้เนื้อสัตว์สด วิตามินหรือแร่ธาตุบางอย่างจึงถูกทำลายไปบางส่วนได้ การดูดซึมและการนำสารอาหารไปใช้จะด้อยกว่าเนื้อสัตว์สดเล็กน้อย

3) ผลพลอยได้จากสัตว์ (Meat by-product)

เป็นผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้ของเนื้อสัตว์ที่หลงเหลือจากกระบวนการแปรรูปอื่น ๆ ซึ่งมักจะเป็นส่วนที่หลงเหลือจากอุตสาหกรรมอาหารมนุษย์ มักจะเป็นโปรตีนคุณภาพต่ำ ไม่สามารถทราบสัดส่วนของส่วนต่าง ๆ ที่นำมาใช้ได้ อาจมีคุณค่าทางอาหารไม่เท่าเนื้อสัตว์ 2 ประเภทก่อนหน้า และมีการดูดซึมที่ด้อยกว่า จึงจัดเป็นเป็นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่มีคุณค่าทางสารอาหารและคุณภาพต่ำสุด โดยส่วนมากแล้วอาหารที่ใช้ผลพลอยได้จากสัตว์เป็นส่วนประกอบหลักมักจะต้องเติมโปรตีนจากพืชมาช่วยเพิ่มค่าโปรตีน

ส่วนประกอบของอาหารสัตว์ จะถูกกำหนดให้ระบุส่วนประกอบเรียงจากที่มีปริมาณมากที่สุด ไล่ลำดับไปจนถึงที่มีปริมาณน้อยที่สุด

โดยมาตรฐานทั่วไปส่วนประกอบ 5 อันดับแรก จะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของอาหาร เราจึงมักจะแนะนำให้ส่วนประกอบ 3-5  ลำดับแรก ควรเป็นเนื้อสัตว์ทั้งหมดด้วยความที่แมวเป็นสัตว์กินเนื้อ (Obligate carnivores) และควรหลีกเลี่ยงส่วนประกอบจากพืชโดยเฉพาะ 3 อันดับแรก

แต่หากอาหารนั้นผลิตจากโปรตีนเพียงแหล่งเดียว (Single protein) จะทำให้มีเพียงลำดับแรกสุดเท่านั้นที่เป็นส่วนประกบอจากเนื้อสัตว์ ในกรณีนี้แนะนำให้ดูสัดส่วนของโปรตีนที่มาจากเนื้อสัตว์ประกอบร่วมด้วย ควรเลือกอาหารที่มีสัดส่วนโปรตีนมาจากเนื้อสัตว์สูงกว่านั่นเอง

2. โภชนาการ (Nutrition)

ในส่วนนี้ให้สังเกตคำว่า ‘Guaranteed analysis’ บนฉลากผลิตภัณฑ์ จะมีการระบุสัดส่วนของสารอาหารหลัก (Macronutrients) เอาไว้

คำศัพท์ที่ควรรู้

    • Crude …(เช่น crude protein, crude fat) คือ ปริมาณของสารอาหารนั้นคิดเป็น % เทียบกับสัดส่วนสารอาหารทั้งหมด โดยที่ยังรวมความชื้นอยู่
    • Dry matter basis คือ ปริมาณของสารอาหารนั้นคิดเป็น % เทียบกับสัดส่วนสารอาหารทั้งหมด โดยที่ไม่รวมความชื้น

1) โปรตีน (Protein)

โปรตีนเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และยังเป็นแหล่งพลังงานหลักของแมว แมวจะใช้โปรตีนในการสังเคราะห์น้ำตาลเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งต่างจากมนุษย์ที่ใช้คาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงานหลัก

โปรตีนจากเนื้อสัตว์เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญที่แมวต้องการ ในเนื้อสัตว์มีกรดอะมิโนจำเป็นอยู่ครบถ้วน ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีการนำโปรตีนจากพืชมาใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่โปรตีนจากพืชมีการดูดซึมและการนำกรดอะมิโนไปใช้ได้ไม่ดีเท่าโปรตีนจากสัตว์ และยังมีกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบอีกด้วย จึงต้องอาศัยการเติมวิตามินสังเคราะห์เพิ่มเข้าไปแทน แต่การนำโปรตีนจากพืชมาใช้ก็มักจะส่งผลให้สัดส่วนคาร์โบไฮเดรตสูงตามไปด้วยเช่นกัน

ตามคำแนะนำของ AAFCO ระบุเป็นปริมาณโปรตีน ‘ขั้นต่ำ’ ที่ควรได้รับ แต่ไม่มีการจำกัดปริมาณสูงสุดต่อวัน

ดูตารางสัดส่วนสารอาหารของ AAFCO ที่นี่

2) ไขมัน (Fat)

ไขมันเป็นแหล่งของพลังงานที่สำคัญ จะให้พลังงานสูงเป็น 2 เท่าของคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน เป็นแหล่งพลังงานหลักของแมวรองลงมาจากโปรตีน ร่างกายแมวจะใช้ไขมันเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสเพื่อไปเลี้ยงสมองและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ไขมันยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ การทำงานของฮอร์โมน และยังช่วยในการดูดซึมวิตามินประเภทที่ละลายในไขมันอีกด้วย (วิตามิน A, D, E, K)

3) คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate)

แมวในธรรมชาติต้องการคาร์โบไฮเดรตหรือแป้งน้อยมาก พวกมันอาจได้มาจากพืชที่ถูกย่อยอยู่ในกระเพาะของเหยื่อที่แมวกินเข้าไป ซึ่งคิดเป็นปริมาณน้อยกว่า 5% เท่านั้น

คาร์โบไฮเดรตที่มากเกินไป อาจส่งผลทำให้เกิดท้องเสีย ท้องอืด และมีแก๊สมากในทางเดินอาหารได้ หากดูตามคำแนะนำของ AAFCO จะเห็นว่าไม่มีคำแนะนำปริมาณคาร์โบไฮเดรตสำหรับแมว เพราะคาร์โบไฮเดรตไม่ใช่สารอาหารที่จำเป็นสำหรับแมวนั่นเอง

โดยคาร์โบไฮเดรตในอาหารแมวจะไม่ได้ถูกระบุเป็นปริมาณบนผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน แต่เราสามารถคำนวณคร่าว ๆ ได้โดย

คาร์โบไฮเดรต = 100 – โปรตีน – ไขมัน – กากใย – ความชื้น

สำหรับอาหารเม็ด จะพบว่าคาร์โบไฮเดรตมีสัดส่วนตั้งแต่ 15-40% ขึ้นกับสูตรอาหารของแต่ละแบรนด์ อาหารที่มีสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตสูง-โปรตีนต่ำจะมีราคาถูก ส่วนอาหารที่คาร์โบไฮเดรตต่ำ-โปรตีนสูงจะมีราคาแพงกว่า แต่ไม่ว่าอย่างไรปริมาณคาร์โบไฮเดรตก็ไม่สามารถทำให้ต่ำกว่า 15% ได้ เนื่องจากการขึ้นรูปเพื่อทำให้เป็นเม็ดนั้นจะต้องใช้คาร์โบไฮเดรตเป็นตัวทำให้ส่วนผสมจับกันเป็นก้อนและคงรูปทรงอยู่ได้นั่นเอง

ชั่งตวง อาหารเม็ด

3. พลังงานในอาหาร (Calories) และปริมาณอาหารที่แนะนำเทียบกับน้ำหนักตัว

ในแต่ละแบรนด์หรือแม้แต่อาหารแบรนด์เดียวกันแต่ต่างสูตรกัน ก็ให้พลังงานที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากส่วนประกอบและสัดส่วนสารอาหารที่ไม่เหมือนกัน จึงส่งผลให้ปริมาณในการให้อาหารแตกต่างกันออกไปด้วย

พลังงานในอาหาร (Calorie content) จะถูกระบุเป็นหน่วย kcal/kg ซึ่งมีตั้งแต่อาหารที่ให้พลังงาน 3200 cal/kg ไปจนถึง 5500 kcal/kg เลยทีเดียว! ดังนั้นปริมาณของอาหารที่แนะนำต่อวันจึงแตกต่างกันอย่างมาก หากให้อาหารในปริมาณที่มากเกินความต้องการของร่างกายก็จะทำให้แมวอ้วนได้ง่าย ในทางตรงกันข้ามหากให้น้อยเกินไปก็อาจทำให้แมวขาดสารอาหารได้เช่นกัน เจ้าของสามารถดูปริมาณที่เหมาะสมของอาหารนั้น ๆ ไ้ด้ตามตารางข้างบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีการคำนวณปริมาณอาหารอย่างคร่าว ๆ เทียบกับน้ำหนักตัวของแมวไว้แล้วนั่นเอง

เราแนะนำให้ชั่งตวงอาหารให้น้องแมวแต่ละตัวทุกวัน ควบคุมปริมาณการกินที่เหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว หากแมวมีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะโรคอ้วนแล้ว จะทำให้มีโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมามากมาย

4. การรับรองคุณภาพ (AAFCO statement)

AAFCO (The Association of American Feed Control Officials) เป็นองค์กรกำหนดมาตรฐานโภชนาการอาหารสัตว์เลี้ยงที่จำหน่ายในประเทศอเมริกา จะมีการกำหนดการประเมินอาหารสัตว์ในด้านต่าง ๆ เช่น ส่วนประกอบ คุณค่าทางอาหารที่ผ่านการตรวจสอบโดยห้องปฏิบัติการ (ห้องแลป) การระบุคำที่ใช้บนผลิตภัณฑ์ จำนวนสัตว์ขั้นต่ำที่ทดลองอาหาร ระยะเวลาการทดสอบ การตรวจสุขภาพโดยสัตวแพทย์ ฯลฯ หากอาหารสัตว์นั้นตรงตามเกณฑ์ ก็จะสามารถระบุว่าได้ผ่านขั้นต่ำของ AAFCO ได้ ส่วนอาหารสัตว์ที่ผลิตทางยุโรปมักจะใช้เกณฑ์ของ ‘FEDIAF’ (European Pet Food Industry Federation)

อาหารที่มีคำระบุเหล่านี้ก็จะมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่า แมวจะได้รับสารอาหารครบถ้วนและสมดุล (Complete and balanced diet) ใน ‘ขั้นต่ำ’ ที่ควรได้นั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีการระบุว่าอาหารที่ผลิตออกมานั้น เหมาะสำหรับแมวช่วงการเติบโตใด เช่น

For All Life Stages : สำหรับแมวทุกช่วงอายุ

For Adult Maintenance : สำหรับแมวโต (1 ปีขึ้นไป)

For Growth and Reproduction : สำหรับแมวในช่วงเจริญเติบโต (2-12 เดือน) ช่วงตั้งครรภ์ และให้นมลูก

ตัวอย่าง : (ชื่ออาหาร) is formulated to meet the nutritional levels established by the AAFCO Cat Food Nutrient Profiles for All Life Stages.

น้ำในอาหารสำคัญกับแมวอย่างไร

แมวในธรรมชาติจะได้รับความชื้นส่วนใหญ่จากอาหาร หรือก็คือเหยื่อที่พวกมันล่าได้ เพราะส่วนประกอบหลักของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดประกอบไปด้วยสารน้ำกว่า 80% ของร่างกาย นั่นจึงทำให้พวกมันแทบไม่ต้องดื่มน้ำจากแหล่งอื่น ๆ เพิ่มเลย แมวบ้านเองก็เช่นเดียวกัน ลักษณะนิสัยและการดำรงชีวิตของพวกมันไม่ค่อยคุ้นชินกับการดื่มน้ำมากนัก เจ้าของหลายท่านที่ให้อาหารเม็ดเป็นหลักจึงประสบปัญหาแมวได้รับสารน้ำน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และมักเป็นสาเหตุนำมาสู่โรคเรื้อรังมากมาย

ดังนั้นการคอยหมั่นสังเกตพฤติกรรมการดื่มน้ำของน้องแมวจึงสำคัญ ควรมีแหล่งน้ำสะอาดวางกระจายทั่วบ้านเพื่อให้แมวเข้าถึงได้ง่าย สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้แมวดื่มน้ำให้เพียงพอทุกวัน

น้ำสำคัญกับแมว

การเก็บรักษาอาหารเม็ด

    • ควรเก็บในที่แห้งและเย็น ไม่ชื้น ไม่โดนแสงแดดโดยตรง เพราะแสงแดดทำให้วิตามินสูญสลายไป คุณค่าทางอาหารลดลง และอาหารเสื่อมสภาพได้ไว
    • ควรเก็บอาหารในถุงอาหารเดิม และทุกครั้งหลังตักเสร็จ ให้ไล่อากาศออก พับด้านบนของถุงลงมา จากนั้นใส่ทั้งถุงลงไปในกล่องสุญญากาศที่ปิดมิดชิด
    • ทำความสะอาดกล่องและตากให้แห้งทุกครั้งหลังอาหารหมดทุกล็อต
    • หากจำเป็นต้องเทใส่ภาชนะหรือเก็บทั้งถุงลงกล่องไม่ได้ แนะนำให้ใช้กล่องสุญญากาศที่เป็น BPA free และควรเป็นกล่องทึบไม่ให้แสงผ่านเข้าไปได้ อย่าลืมตัดเลขที่ล็อตผลิต และวันหมดอายุจากถุงอาหารแปะไว้บนกล่องป้องกันการลืมวันหมดอายุหรือเผื่อเจออาหารมีปัญหานั่นเอง
    • ใช้ช้อนสะอาดตักอาหาร และล้างทำความสะอาดทุกครั้ง
    • อาหารที่เปิดแล้วควรรับประทานให้หมดภายใน 8 สัปดาห์ จะทำให้แมวได้คุณค่าทางสารอาหารครบถ้วนมากที่สุด

สรุป

อาหารเม็ด จัดเป็นประเภทของอาหารแมวที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน โดยสามารถพิจาณาคุณภาพของอาหารได้จาก 1. ส่วนประกอบ (Ingredients) 2. โภชนาการ (Nutrition) 3. พลังงานในอาหาร (Calories) และปริมาณอาหารที่แนะนำเทียบกับน้ำหนักตัว และสุดท้าย 4. การรับรองคุณภาพ (AAFCO statement)

แมวเป็นสัตว์กินเนื้อเพียงอย่างเดียว (Obligate carnivore) จึงควรให้ความสำคัญกับคุณภาพและสัดส่วนโปรตีน โดยโปรตีนคุณภาพสูงมักจะมาจากการใช้เนื้อสัตว์สด และควรเลือกแหล่งโปรตีนที่มาจากเนื้อสัตว์มากกว่าโปรตีนที่มาจากพืช เพราะมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน รวมถึงการดูดซึมและการนำสารอาหารไปใช้ทำได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังควรเลือกที่มีสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เจ้าของที่เลือกใช้อาหารเม็ดเป็นอาหารหลักสำหรับแมว ควรใส่ใจและให้ความสำคัญกับการดื่มน้ำของแมวเป็นพิเศษ เนื่องจากสัดส่วนความชื้นในอาหารเม็ดนั้นต่ำมาก รวมถึงควรมีวิธีการเก็บรักษาอาหารเม็ดที่ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้สารอาหารสูญเสียไปหลังเปิดบรรจุภัณฑ์

” สนใจเข้าพักกับ โรงแรมแมว ของเราอยู่หรือเปล่า !? “

haru-cat-hotel-logo

© All Rights Reserved.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *