วิธีเลือก อาหารเม็ด สำหรับแมว

อาหารเม็ด ยังคงเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมสูงสุด ทั้งการผลิต การขนส่ง การเก็บรักษา และต้นทุนที่ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับอาหารสัตว์ในรูปแบบอื่น ตลาดอาหารเม็ดจึงมักจะมีหลากหลาย มีบริษัท และผู้ผลิตมากมายที่แข่งขันกันออกผลิตภัณฑ์และทำการตลาด เราขอชวนเจ้าของน้องแมวทุกท่านมารู้จักข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงวิธีเลือกอาหารเม็ดคุณภาพดีจากส่วนผสมและวัตถุดิบ …ไม่ใช่จากคำโฆษณาหรือการตลาด

เลือก อาหารเม็ด อาหารแมว

ทำความรู้จักอาหารเม็ด

อาหารเม็ด (Dry kibble/Dry food) เป็นอาหารแมวที่ผ่านการปรุงสุก โดยนำวัตถุดิบมาผ่านกระบวนการความร้อนในอุณหภูมิที่สูงมาก อาจใช้ความร้อนสูงถึง 300 องศาฟาเรนไฮน์เลยทีเดียว จากนั้นจะมีการเติมคาร์โบไฮเดรตเพื่อช่วยในการขึ้นรูปอาหารเป็นโดว์ (Dough) และมีการนำโดว์ที่ได้ไปผ่านความร้อนสูง และแรงดันอีกครั้ง จากนั้นนำมาตัดให้เป็นรูปทรงต่าง ๆ แล้วนำไปอบเพื่อไล่ความชื้นในขั้นตอนสุดท้าย อาจมีการเติมแต่งรสหรือกลิ่นเพิ่มเติม เนื่องจากวัตถุดิบมีการผ่านกระบวนการความร้อนหลายครั้งทำให้กลิ่นจากวัตถุดิบจางลงไปมากนั่นเอง

การผ่านความร้อนหลายขั้นตอนและการอบในขั้นตอนสุดท้าย จึงทำให้อาหารเม็ดมีความชื้นหลงเหลือในอาหารต่ำมาก ๆ ซึ่งช่วยให้ถนอมอาหาร มีอายุอาหารยาวนานในบรรจุภัณฑ์ ไม่เน่าเสียได้ง่าย แต่ก็เป็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อยในเวลาเดียวกัน

กระบวนการ อาหารเม็ดแมว

อาหารเม็ด มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร !?

ข้อดี

  • เจ้าของใช้งานสะดวก
  • อายุเก็บรักษายาวนาน
  • สามารถวางทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องได้
  • มีให้เลือกหลากหลาย
  • ราคาถูกกว่าอาหารประเภทอื่นในสารอาหารที่เท่ากัน

ข้อเสีย

  • ความชื้นในอาหารต่ำมาก ทำให้แมวได้รับสารน้ำน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการกินอาหารตามธรรมชาติ
  • มีสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตสูง
  • กระบวนการผลิตมีการใช้ความร้อนสูงหลายขั้นตอน ทำให้คุณภาพของแร่ธาตุและวิตามินอาจลดลง
อาหารแมว ชนิดเม็ดสำเร็จรูป

วิธีเลือกอาหารเม็ด

เจ้าของหลายคนอาจจะเคยได้ยินคำโฆษณาเรียกประเภทอาหารเม็ดต่าง ๆ เช่น ‘เกรดโฮลิสติก’ ‘เกรนฟรี’ ‘เกรดพรีเมียม’ ฯลฯ แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคำกล่าวอ้างทางการตลาด ไม่มีมาตรฐานการแบ่งแยกเกรดอย่างชัดเจน

สิ่งที่สามารถบ่งบอกคุณภาพของอาหารแมวได้อย่างเป็นมาตรฐานสากล คือ ‘ฉลากโภชนาการ’ ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่

    1. ส่วนประกอบ (Ingredients)
    2. โภชนาการ (Nutrition)
    3. พลังงานในอาหาร (Calories) – ปริมาณอาหารที่แนะนำเทียบกับน้ำหนักตัว
    4. การรับรองคุณภาพ (AAFCO statement)

1. ส่วนประกอบ (Ingredients)

แมวเป็นสัตว์กินเนื้อเพียงอย่างเดียว (Obligate Carnivore) แน่นอนว่าส่วนประกอบหลักที่ควรนำมาพิจารณาเป็นอันดับแรกในอาหารแมว นั่นคือ ‘เนื้อสัตว์’

โดยสามารถแบ่งคุณภาพของเนื้อสัตว์ที่นำมาทำอาหารแมวออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ Meat, Meat meal และ Meat by-product

1) เนื้อสัตว์สด (Fresh meat)

เป็นเนื้อสัตว์สดโดยจะรวมหรือไม่รวมกระดูกก็ได้ อาจใช้สัตว์เป็นบางส่วนหรือทั้งตัว ซึ่งบางแบรนด์จะมีการระบุว่าใช้ส่วนใดของสัตว์บ้าง เช่น เนื้อไก่ ตับไก่ ฯลฯ หรือใช้คำว่า Whole คือใช้สัตว์ทั้งตัว วัตถุดิบจากเนื้อสัตว์สดมักจะมีการคัดสรรและคัดส่วนดีในสภาพสมบูรณ์มาทำ ไม่ใช่การใช้ของเหลือจากอุตสาหกรรมอื่น ๆ

โปรตีนจากเนื้อสัตว์สดจะให้คุณค่าทางสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุตามธรรมชาติมากที่สุด เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดีที่สุด ร่างกายแมวสามารถดูดซึมและนำไปใช้ได้ดี

เนื้อสัตว์สดจะมีกระบวนการแปรรูป การขนส่งวัตถุดิบ และการเก็บรักษาความสดของอาหารที่มีกระบวนการยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น อาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบนี้จึงมักจะมีราคาที่สูงกว่า

อาหารเม็ด อาหารแมว

2) เนื้อสัตว์ป่น (Meat meal)

เป็นผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการป่นแห้งโดยใช้ความร้อน อาจรวมหรือไม่รวมกระดูกก็ได้ ใช้สัตว์เป็นบางส่วนหรือทั้งตัวมาทำก็ได้เช่นกัน แต่จะไม่สามารถทราบอัตราส่วนของอวัยวะต่าง ๆ ที่นำมาใช้ทำอาหารสัตว์ได้

เนื้อสัตว์ประเภทนี้เนื่องจากผ่านความร้อนหลายขั้นตอนก่อนจะออกมาเป็นอาหารเม็ดมากกว่าการใช้เนื้อสัตว์สด วิตามินหรือแร่ธาตุบางอย่างจึงถูกทำลายไปบางส่วนได้ การดูดซึมและการนำสารอาหารไปใช้จะด้อยกว่าเนื้อสัตว์สดเล็กน้อย

3) ผลพลอยได้จากสัตว์ (Meat by-product)

เป็นผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้ของเนื้อสัตว์ที่หลงเหลือจากกระบวนการแปรรูปอื่น ๆ ซึ่งมักจะเป็นส่วนที่หลงเหลือจากอุตสาหกรรมอาหารมนุษย์ มักจะเป็นโปรตีนคุณภาพต่ำ ไม่สามารถทราบสัดส่วนของส่วนต่าง ๆ ที่นำมาใช้ได้ อาจมีคุณค่าทางอาหารไม่เท่าเนื้อสัตว์ 2 ประเภทก่อนหน้า และมีการดูดซึมที่ด้อยกว่า จึงจัดเป็นเป็นโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่มีคุณค่าทางสารอาหารและคุณภาพต่ำสุด โดยส่วนมากแล้วอาหารที่ใช้ผลพลอยได้จากสัตว์เป็นส่วนประกอบหลักมักจะต้องเติมโปรตีนจากพืชมาช่วยเพิ่มค่าโปรตีน

ส่วนประกอบของอาหารสัตว์ จะถูกกำหนดให้ระบุส่วนประกอบเรียงจากที่มีปริมาณมากที่สุด ไล่ลำดับไปจนถึงที่มีปริมาณน้อยที่สุด

โดยมาตรฐานทั่วไปส่วนประกอบ 5 อันดับแรก จะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของอาหาร เราจึงมักจะแนะนำให้ส่วนประกอบ 3-5  ลำดับแรก ควรเป็นเนื้อสัตว์ทั้งหมดด้วยความที่แมวเป็นสัตว์กินเนื้อ (Obligate carnivores) และควรหลีกเลี่ยงส่วนประกอบจากพืชโดยเฉพาะ 3 อันดับแรก

แต่หากอาหารนั้นผลิตจากโปรตีนเพียงแหล่งเดียว (Single protein) จะทำให้มีเพียงลำดับแรกสุดเท่านั้นที่เป็นส่วนประกบอจากเนื้อสัตว์ ในกรณีนี้แนะนำให้ดูสัดส่วนของโปรตีนที่มาจากเนื้อสัตว์ประกอบร่วมด้วย ควรเลือกอาหารที่มีสัดส่วนโปรตีนมาจากเนื้อสัตว์สูงกว่านั่นเอง

2. โภชนาการ (Nutrition)

ในส่วนนี้ให้สังเกตคำว่า ‘Guaranteed analysis’ บนฉลากผลิตภัณฑ์ จะมีการระบุสัดส่วนของสารอาหารหลัก (Macronutrients) เอาไว้

คำศัพท์ที่ควรรู้

    • Crude …(เช่น crude protein, crude fat) คือ ปริมาณของสารอาหารนั้นคิดเป็น % เทียบกับสัดส่วนสารอาหารทั้งหมด โดยที่ยังรวมความชื้นอยู่
    • Dry matter basis คือ ปริมาณของสารอาหารนั้นคิดเป็น % เทียบกับสัดส่วนสารอาหารทั้งหมด โดยที่ไม่รวมความชื้น

1) โปรตีน (Protein)

โปรตีนเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และยังเป็นแหล่งพลังงานหลักของแมว แมวจะใช้โปรตีนในการสังเคราะห์น้ำตาลเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งต่างจากมนุษย์ที่ใช้คาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงานหลัก

โปรตีนจากเนื้อสัตว์เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญที่แมวต้องการ ในเนื้อสัตว์มีกรดอะมิโนจำเป็นอยู่ครบถ้วน ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีการนำโปรตีนจากพืชมาใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่โปรตีนจากพืชมีการดูดซึมและการนำกรดอะมิโนไปใช้ได้ไม่ดีเท่าโปรตีนจากสัตว์ และยังมีกรดอะมิโนจำเป็นไม่ครบอีกด้วย จึงต้องอาศัยการเติมวิตามินสังเคราะห์เพิ่มเข้าไปแทน แต่การนำโปรตีนจากพืชมาใช้ก็มักจะส่งผลให้สัดส่วนคาร์โบไฮเดรตสูงตามไปด้วยเช่นกัน

ตามคำแนะนำของ AAFCO ระบุเป็นปริมาณโปรตีน ‘ขั้นต่ำ’ ที่ควรได้รับ แต่ไม่มีการจำกัดปริมาณสูงสุดต่อวัน

ดูตารางสัดส่วนสารอาหารของ AAFCO ที่นี่

2) ไขมัน (Fat)

ไขมันเป็นแหล่งของพลังงานที่สำคัญ จะให้พลังงานสูงเป็น 2 เท่าของคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน เป็นแหล่งพลังงานหลักของแมวรองลงมาจากโปรตีน ร่างกายแมวจะใช้ไขมันเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสเพื่อไปเลี้ยงสมองและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ไขมันยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ การทำงานของฮอร์โมน และยังช่วยในการดูดซึมวิตามินประเภทที่ละลายในไขมันอีกด้วย (วิตามิน A, D, E, K)

3) คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate)

แมวในธรรมชาติต้องการคาร์โบไฮเดรตหรือแป้งน้อยมาก พวกมันอาจได้มาจากพืชที่ถูกย่อยอยู่ในกระเพาะของเหยื่อที่แมวกินเข้าไป ซึ่งคิดเป็นปริมาณน้อยกว่า 5% เท่านั้น

คาร์โบไฮเดรตที่มากเกินไป อาจส่งผลทำให้เกิดท้องเสีย ท้องอืด และมีแก๊สมากในทางเดินอาหารได้ หากดูตามคำแนะนำของ AAFCO จะเห็นว่าไม่มีคำแนะนำปริมาณคาร์โบไฮเดรตสำหรับแมว เพราะคาร์โบไฮเดรตไม่ใช่สารอาหารที่จำเป็นสำหรับแมวนั่นเอง

โดยคาร์โบไฮเดรตในอาหารแมวจะไม่ได้ถูกระบุเป็นปริมาณบนผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน แต่เราสามารถคำนวณคร่าว ๆ ได้โดย

คาร์โบไฮเดรต = 100 – โปรตีน – ไขมัน – กากใย – ความชื้น

สำหรับอาหารเม็ด จะพบว่าคาร์โบไฮเดรตมีสัดส่วนตั้งแต่ 15-40% ขึ้นกับสูตรอาหารของแต่ละแบรนด์ อาหารที่มีสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตสูง-โปรตีนต่ำจะมีราคาถูก ส่วนอาหารที่คาร์โบไฮเดรตต่ำ-โปรตีนสูงจะมีราคาแพงกว่า แต่ไม่ว่าอย่างไรปริมาณคาร์โบไฮเดรตก็ไม่สามารถทำให้ต่ำกว่า 15% ได้ เนื่องจากการขึ้นรูปเพื่อทำให้เป็นเม็ดนั้นจะต้องใช้คาร์โบไฮเดรตเป็นตัวทำให้ส่วนผสมจับกันเป็นก้อนและคงรูปทรงอยู่ได้นั่นเอง

ชั่งตวง อาหารเม็ด

3. พลังงานในอาหาร (Calories) และปริมาณอาหารที่แนะนำเทียบกับน้ำหนักตัว

ในแต่ละแบรนด์หรือแม้แต่อาหารแบรนด์เดียวกันแต่ต่างสูตรกัน ก็ให้พลังงานที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากส่วนประกอบและสัดส่วนสารอาหารที่ไม่เหมือนกัน จึงส่งผลให้ปริมาณในการให้อาหารแตกต่างกันออกไปด้วย

พลังงานในอาหาร (Calorie content) จะถูกระบุเป็นหน่วย kcal/kg ซึ่งมีตั้งแต่อาหารที่ให้พลังงาน 3200 cal/kg ไปจนถึง 5500 kcal/kg เลยทีเดียว! ดังนั้นปริมาณของอาหารที่แนะนำต่อวันจึงแตกต่างกันอย่างมาก หากให้อาหารในปริมาณที่มากเกินความต้องการของร่างกายก็จะทำให้แมวอ้วนได้ง่าย ในทางตรงกันข้ามหากให้น้อยเกินไปก็อาจทำให้แมวขาดสารอาหารได้เช่นกัน เจ้าของสามารถดูปริมาณที่เหมาะสมของอาหารนั้น ๆ ไ้ด้ตามตารางข้างบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีการคำนวณปริมาณอาหารอย่างคร่าว ๆ เทียบกับน้ำหนักตัวของแมวไว้แล้วนั่นเอง

เราแนะนำให้ชั่งตวงอาหารให้น้องแมวแต่ละตัวทุกวัน ควบคุมปริมาณการกินที่เหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว หากแมวมีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะโรคอ้วนแล้ว จะทำให้มีโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมามากมาย

4. การรับรองคุณภาพ (AAFCO statement)

AAFCO (The Association of American Feed Control Officials) เป็นองค์กรกำหนดมาตรฐานโภชนาการอาหารสัตว์เลี้ยงที่จำหน่ายในประเทศอเมริกา จะมีการกำหนดการประเมินอาหารสัตว์ในด้านต่าง ๆ เช่น ส่วนประกอบ คุณค่าทางอาหารที่ผ่านการตรวจสอบโดยห้องปฏิบัติการ (ห้องแลป) การระบุคำที่ใช้บนผลิตภัณฑ์ จำนวนสัตว์ขั้นต่ำที่ทดลองอาหาร ระยะเวลาการทดสอบ การตรวจสุขภาพโดยสัตวแพทย์ ฯลฯ หากอาหารสัตว์นั้นตรงตามเกณฑ์ ก็จะสามารถระบุว่าได้ผ่านขั้นต่ำของ AAFCO ได้ ส่วนอาหารสัตว์ที่ผลิตทางยุโรปมักจะใช้เกณฑ์ของ ‘FEDIAF’ (European Pet Food Industry Federation)

อาหารที่มีคำระบุเหล่านี้ก็จะมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่า แมวจะได้รับสารอาหารครบถ้วนและสมดุล (Complete and balanced diet) ใน ‘ขั้นต่ำ’ ที่ควรได้นั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีการระบุว่าอาหารที่ผลิตออกมานั้น เหมาะสำหรับแมวช่วงการเติบโตใด เช่น

For All Life Stages : สำหรับแมวทุกช่วงอายุ

For Adult Maintenance : สำหรับแมวโต (1 ปีขึ้นไป)

For Growth and Reproduction : สำหรับแมวในช่วงเจริญเติบโต (2-12 เดือน) ช่วงตั้งครรภ์ และให้นมลูก

ตัวอย่าง : (ชื่ออาหาร) is formulated to meet the nutritional levels established by the AAFCO Cat Food Nutrient Profiles for All Life Stages.

น้ำในอาหารสำคัญกับแมวอย่างไร

แมวในธรรมชาติจะได้รับความชื้นส่วนใหญ่จากอาหาร หรือก็คือเหยื่อที่พวกมันล่าได้ เพราะส่วนประกอบหลักของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดประกอบไปด้วยสารน้ำกว่า 80% ของร่างกาย นั่นจึงทำให้พวกมันแทบไม่ต้องดื่มน้ำจากแหล่งอื่น ๆ เพิ่มเลย แมวบ้านเองก็เช่นเดียวกัน ลักษณะนิสัยและการดำรงชีวิตของพวกมันไม่ค่อยคุ้นชินกับการดื่มน้ำมากนัก เจ้าของหลายท่านที่ให้อาหารเม็ดเป็นหลักจึงประสบปัญหาแมวได้รับสารน้ำน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และมักเป็นสาเหตุนำมาสู่โรคเรื้อรังมากมาย

ดังนั้นการคอยหมั่นสังเกตพฤติกรรมการดื่มน้ำของน้องแมวจึงสำคัญ ควรมีแหล่งน้ำสะอาดวางกระจายทั่วบ้านเพื่อให้แมวเข้าถึงได้ง่าย สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้แมวดื่มน้ำให้เพียงพอทุกวัน

น้ำสำคัญกับแมว

การเก็บรักษาอาหารเม็ด

    • ควรเก็บในที่แห้งและเย็น ไม่ชื้น ไม่โดนแสงแดดโดยตรง เพราะแสงแดดทำให้วิตามินสูญสลายไป คุณค่าทางอาหารลดลง และอาหารเสื่อมสภาพได้ไว
    • ควรเก็บอาหารในถุงอาหารเดิม และทุกครั้งหลังตักเสร็จ ให้ไล่อากาศออก พับด้านบนของถุงลงมา จากนั้นใส่ทั้งถุงลงไปในกล่องสุญญากาศที่ปิดมิดชิด
    • ทำความสะอาดกล่องและตากให้แห้งทุกครั้งหลังอาหารหมดทุกล็อต
    • หากจำเป็นต้องเทใส่ภาชนะหรือเก็บทั้งถุงลงกล่องไม่ได้ แนะนำให้ใช้กล่องสุญญากาศที่เป็น BPA free และควรเป็นกล่องทึบไม่ให้แสงผ่านเข้าไปได้ อย่าลืมตัดเลขที่ล็อตผลิต และวันหมดอายุจากถุงอาหารแปะไว้บนกล่องป้องกันการลืมวันหมดอายุหรือเผื่อเจออาหารมีปัญหานั่นเอง
    • ใช้ช้อนสะอาดตักอาหาร และล้างทำความสะอาดทุกครั้ง
    • อาหารที่เปิดแล้วควรรับประทานให้หมดภายใน 8 สัปดาห์ จะทำให้แมวได้คุณค่าทางสารอาหารครบถ้วนมากที่สุด

สรุป

อาหารเม็ด จัดเป็นประเภทของอาหารแมวที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปัจจุบัน โดยสามารถพิจาณาคุณภาพของอาหารได้จาก 1. ส่วนประกอบ (Ingredients) 2. โภชนาการ (Nutrition) 3. พลังงานในอาหาร (Calories) และปริมาณอาหารที่แนะนำเทียบกับน้ำหนักตัว และสุดท้าย 4. การรับรองคุณภาพ (AAFCO statement)

แมวเป็นสัตว์กินเนื้อเพียงอย่างเดียว (Obligate carnivore) จึงควรให้ความสำคัญกับคุณภาพและสัดส่วนโปรตีน โดยโปรตีนคุณภาพสูงมักจะมาจากการใช้เนื้อสัตว์สด และควรเลือกแหล่งโปรตีนที่มาจากเนื้อสัตว์มากกว่าโปรตีนที่มาจากพืช เพราะมีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน รวมถึงการดูดซึมและการนำสารอาหารไปใช้ทำได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังควรเลือกที่มีสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เจ้าของที่เลือกใช้อาหารเม็ดเป็นอาหารหลักสำหรับแมว ควรใส่ใจและให้ความสำคัญกับการดื่มน้ำของแมวเป็นพิเศษ เนื่องจากสัดส่วนความชื้นในอาหารเม็ดนั้นต่ำมาก รวมถึงควรมีวิธีการเก็บรักษาอาหารเม็ดที่ถูกต้องเพื่อป้องกันไม่ให้สารอาหารสูญเสียไปหลังเปิดบรรจุภัณฑ์

” สนใจเข้าพักกับ โรงแรมแมว ของเราอยู่หรือเปล่า !? “

haru-cat-hotel-logo

© All Rights Reserved.

อาหารแมว ฉบับพื้นฐาน

   อาหารแมว ถือเป็นเรื่องที่คนเลี้ยงแมวให้ความสนใจมากที่สุด! เพราะ อาหารที่กินเข้าไปล้วนส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง ทุกวันนี้อัตราการเลี้ยงสัตว์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีแบรนด์อาหารมากมายหลากหลายรูปแบบพยายามออกผลิตภัณฑ์มาแข่งขันกัน รวมถึงใช้การตลาดมหาศาลเพื่อดึงยอดขาย เราผู้เป็นเจ้าของแมวจึงควรจะมีความรู้เท่าทัน และสามารถเลือกอาหารที่เหมาะสมและดีที่สุดให้กับแมวของเราได้ ในเบื้องต้นนี้เราจะพาไปทำความรู้จักว่า อาหารแมวนั้นมีกี่ประเภท มีกี่แบบ แต่ละแบบดูอย่างไร มีวิธีเลือกอย่างไร  รวมถึงคำศัพท์ที่มักพบบ่อยในวงการอาหารแมว…เราจะชวนคุณมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน

อาหารแมว ฉบับพื้นฐาน

อาหารแมว ...มีกี่ประเภท?

อาหารแมวหลัก ๆ จะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ด้วยกัน ได้แก่

      1. อาหารหลัก
      2. ของกินเล่น/ขนม
      3. อาหารเสริม
      4. อาหารสำหรับรักษาโรค

1. อาหารหลัก

อาหารแมว ที่มีสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอย่างครบถ้วน มีการวัดและคำนวณสารอาหารมาเรียบร้อย ทั้งปริมาณกรดอะมิโนจำเป็น กรดไขมันจำเป็น วิตามิน แร่ธาตุต่าง ๆ ตามที่ร่างกายของแมวต้องการโดยสามารถดูมาตรฐานของอาหารหลักนี้ได้จาก

      • ได้รับการรับรองว่ามีสารอาหารครบถ้วนตามเกณฑ์ขั้นต่ำของ AAFCO หรือ FEDIAF ซึ่งเป็นองค์กรที่มีเกณฑ์มาตรฐานสาร อาหารแมว
      • เป็น ‘Complete and Balance diet’

ควรมีการระบุคำข้างต้นเหล่านี้ที่ข้างบรรจุภัณฑ์  หากไม่มีให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจไม่ใช่อาหารหลัก

อาหารหลักควรให้แมวกินในปริมาณที่กำหนด ซึ่งเป็นปริมาณที่มีการคำนวณมาแล้วว่าแมวจะได้สารอาหารอย่างครบถ้วน โดยอาหารแต่ละประเภทและแต่ละแบรนด์มีส่วนผสมไม่เหมือนกัน จึงให้พลังงานไม่เท่ากัน ควรอ่านคำแนะนำข้างบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจนหรือคำนวณแคลอรี่ให้เหมาะกับแมวแต่ละตัว

โดยสามารถพบอาหารประเภทนี้อยู่ในรูปแบบของอาหารดังต่อไปนี้

อาหารเม็ดเป็นอาหารถูกนำมาปรุงสุก ผ่านความร้อน การอบ และการขึ้นรูปดึงความชื้นภายในอาหารออกเกือบหมด ทำให้อาหารอยู่ในรูปของเม็ด สะดวก ใช้งานง่าย มีอายุอาหารยาวนานขึ้น

การจะขึ้นรูปเป็นอาหารเม็ดได้นั้น จำเป็นที่จะต้องใส่คาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่มาก ซึ่งแมวนั้นได้ชื่อว่าเป็นสัตว์นักล่าที่กินเนื้อเป็นหลัก (Obligate carnivore) สารอาหารจึงมีความแตกต่างจากเหยื่อในธรรมชาติของแมว หากคุณเลือกให้อาหารประเภทนี้แล้ว จึงควรใส่ใจ และเลือกอาหารเม็ดที่มีโปรตีนสูง โปรตีนหลักมาจากเนื้อสัตว์ และสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก็จะดีกว่า

นอกจากนี้อาหารเม็ดยังมีการดึงความชื้นออกไปในปริมาณมาก แมวในธรรมชาติมักได้ความชื้นหรือสารน้ำจากเหยื่อเป็นหลัก ดังนั้นเพื่อทดแทนความชื้นที่สูญเสียไปจากอาหาร คุณควรจัดเตรียมแหล่งน้ำสะอาดไว้ให้แมวหลายจุดทั่วบริเวณบ้าน เพื่อให้กระตุ้นให้แมวดื่มน้ำมากขึ้น และคอยสังเกตพฤติกรรมการดื่มน้ำของแมวอยู่เสมอ

อาหารแมว ชนิดเม็ดสำเร็จรูป

2) อาหารเปียก (Wet cat food)

อาหารเปียกเป็นอาหารปรุงสุกที่ถูกบรรจุอยู่ในรูปของกระป๋อง/ถ้วย/ซอง อาหารประเภทนี้จะมีความชื้นอยู่ค่อนข้างมาก แทบจะเทียบเท่ากับความชื้นของเหยื่อในธรรมชาติของแมวเลยทีเดียว อาหารเปียกจะมีกลิ่นหอมมาก แมวส่วนใหญ่จึงมักจะคุ้นเคยและชื่นชอบอาหารเปียก

อาหารเปียกหากเปิดบรรจุภัณฑ์แล้วควรให้แมวกินให้หมด ไม่สามารถวางอาหารทิ้งไว้แบบอาหารเม็ดได้ เพราะความชื้นในอาหารทำให้อาหารเปียกเน่าเสียได้ง่ายกว่ามาก คุณอาจใช้วิธีตักแบ่งแต่น้อย แล้วนำส่วนที่เหลือแช่เย็นไว้ก็จะช่วยให้ไม่สิ้นเปลืองอาหารได้

หากคุณเลือกให้อาหารเปียกเป็นมื้ออาหารหลักของน้องแมว อย่าลืมเลือกอาหารเปียกประเภทโภชนาการครบถ้วนด้วยนะ!

อาหารแมว ชนิดเปียก

3) อาหารบาร์ฟ (B.A.R.F)

อาหารบาร์ฟ เป็นอาหารดิบ ไม่ผ่านความร้อน ต้นกำเนิดอาหารประเภทนี้มาจากความพยายามในการเลียนแบบอาหารตามธรรมชาติของแมว นั่นก็คือการกินเหยื่อแบบดิบนั่นเอง

อย่างไรก็ตามประโยชน์ของอาหารดิบยังค่อนข้างเป็นที่ถกเถียงเป็นอย่างมาก เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยที่มีคุณภาพมากพอที่จะสนับสนุนประโยชน์ของอาหารดิบ แต่มีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาถึงความเสี่ยงและโอกาสการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อโปรโตซัว พยาธิ ไวรัส และอื่น ๆ ทั้งความเสี่ยงในการติดเชื้อกับตัวแมวที่เป็นผู้บริโภคอาหารดิบโดยตรง และกับมนุษย์ที่ได้รับเชื้อทางอ้อมจากการปนเปื้อน 

จึงเป็นสาเหตุที่สัตวแพทย์ส่วนใหญ่ไม่แนะนำอาหารประเภทนี้นั่นเอง

อาหารแมว ประเภทดิบ

4) อาหารฟรีซดราย (Freeze-dried)

ฟรีซดราย (Freeze-dired) เป็นกระบวนการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง ซึ่งใช้อุณหภูมิที่ต่ำมากระหว่าง -30C ถึง -50C จากนั้นใช้กระบวนนำความชื้นออก

เนื่องจากอุณหภูมิที่ใช้ในกระบวนนั้นต่ำมาก ๆ จึงทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในอาหารไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ และยังเป็นกระบวนการถนอมอาหารที่ช่วยคงคุณค่าสารอาหารดั้งเดิมจากธรรมชาติไว้ได้ค่อนข้างสูงมาก สารอาหารไม่โดนทำลายไปด้วยความร้อน อาหารประเภทฟรีซดรายจึงกำลังได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตามกระบวนการนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงทำให้ราคาอาหารประเภทนี้ค่อนข้างสูงตามไปด้วย

5) อาหารปรุงสด (Fresh cat food)

อาหารปรุงสด เป็นอาหารที่มีลักษณธคล้ายกับอาหารเปียก มีข้อแตกต่างอยู่ที่อาหารจะถูกปรุงขึ้นมาสดใหม่ จากนั้นใช้วิธีแช่แข็งเพื่อรักษาคุณภาพอาหาร และมักจะถูกบรรจุในรูปแบบของมื้ออาหารเดี่ยว (Single-served) เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานและคงคุณภาพอาหารไว้ เมื่อจะนำอาหารประเภทนี้ให้น้องแมว จะต้องผ่านการอุ่นร้อนก่อน และไม่สามารถวางทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องได้นานเช่นเดียวกับอาหารเปียก

ข้อด้อยของอาหารประเภทนี้ คือ ขนส่งลำบาก ทำให้อาหารมีราคาค่อนข้างสูง และกระบวนการเก็บรักษาที่ต้องการช่องแช่แข็งตลอดเวลาก็เป็นข้อจำกัดที่สำคัญที่ผู้เลี้ยงควรพิจารณาก่อนเลือกซื้อ

2. อาหารแมว ที่เป็นของกินเล่น/ขนม

อาหารประเภทนี้เป็นเพียงขนมหรืออาหารว่างเท่านั้น ไม่สามารถให้เป็นอาหารหลักได้ เพราะสารอาหารไม่ถึงขั้นต่ำที่แมวควรได้รับต่อวัน

ตัวอย่าง อาหารแมว ประเภทนี้ได้แก่ อาหารเปียกแบบโภชนาการไม่ครบ ขนมแมวชนิดต่าง ๆ ฟรีซดรายทั่วไปที่ไม่มีระบุว่าเป็นสูตร Complete and balance เนื้อสัตว์ต้มที่ทำเองที่บ้าน เป็นต้น

โดยอาหารประเภทนี้ควรให้แมวกินไม่เกิน 10% ของพลังงานที่ควรได้รับจากอาหารในแต่ละวัน เพื่อให้แมวยังสามารถกินอาหารหลักได้ตามปริมาณที่กำหนด และได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนแบบที่ควรจะเป็นนั่นเอง

cat treat

Q : เนื้อสัตว์ต้มเองทำไมจึงไม่จัดเป็นอาหารหลัก?

เนื่องจากอาหารที่ทำเองที่บ้านนั้นไม่สามารถรู้ปริมาณสารอาหารที่หลงเหลืออยู่หลังผ่านความร้อนได้ ทำให้ไม่ทราบปริมาณของโปรตีน ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุต่าง ๆ ว่าจะเพียงพอกับความต้องการของแมวหรือไม่ ซึ่งหากแมวได้สารอาหารไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดการขาดสารอาหาร และส่งผลทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้มากมาย เช่น การขาดทอรีน เป็นต้น

ในต่างประเทศอาจจะพบว่ามีคนทำอาหารเปียกให้สัตว์เลี้ยงเองที่บ้านกันอย่างแพร่หลายมาก นั่นเป็นเพราะที่ต่างประเทศมีนักโภชนาการสำหรับสัตว์ มีการคิดค้นสูตรอาหารที่ผ่านการคำนวณและตรวจสอบแล้วว่า หากใช้ส่วนผสมปริมาณนี้ ผ่านความร้อน/กรรมวิธีทำแบบนี้ อาหารที่ออกมาจะได้สารอาหารครบถ้วนนั่นเอง

3. อาหารแมว ประเภทอาหารเสริม

คือ อาหารที่เสริมขึ้นมามากกว่าอาหารปกติ ไม่ใช่อาหารหลัก โดยจะกินหรือไม่กินก็ได้ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงมากมายหลายอย่าง ทั้งเรื่องเสริมภูมิคุ้มกันอย่างสารสกัด Betaglucan, Prebiotic-probiotic, สารสกัดแครนเบอรี่, น้ำมันปลาบำรุงเส้นขน ฯลฯ

แต่ก่อนให้แมวกินหรือบำรุงเพิ่มเติม ควรศึกษาให้ดี อ่านส่วนประกอบ ดูความน่าเชื่อถือ และควรปรึกษาสัตวแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัยของแมวที่รักของคุณ

สรุป

อาหารแมวในปัจจุบันมีหลากหลายประเภท มีทั้งอาหารที่สามารถกินเป็นอาหารหลักได้ ขนมหรือของกินเล่น และอาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ตามอาหารหลักก็ยังมีหลายรูปแบบให้เลือก ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ในบทความต่อไปเราจะมาเจาะลึกในอาหารแต่ละประเภทเหล่านี้ เพื่อให้เจ้าของได้เข้าใจและสามารถเลือกอาหารที่ดีมีประโยชน์กับน้องแมวของเรา

” สนใจเข้าพักกับ โรงแรมแมว ของเราอยู่หรือเปล่า !? “

© All Rights Reserved.

ทำหมันแมว…ทำไมควรทำหมัน?

   การ ทำหมันแมว เป็นวิธีคุมกำเนิดสำหรับสัตว์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในปัจจุบัน เจ้าของหลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องการคุมกำเนิดวิธีอื่นมาบ้าง เช่น การใช้ยาคุมกำเนิดทั้งแบบฉีดหรือแบบฝัง หรือแม้แต่วัคซีนคุมกำเนิดก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยทั้งสิ้น ยังไม่มีจำหน่ายอย่างถูกต้องในประเทศไทย การทำหมันโดยการผ่าตัดจึงยังเป็นวิธีที่ได้มาตรฐานที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งประโยชน์ของการทำหมันมากกว่าแค่การคุมกำเนิด ขอเชิญชวนพ่อแม่แมวมาอ่านทำความเข้าใจเรื่องการทำหมันกันเถอะ!

ทำหมันแมว ทำไมควรทำ

ทำหมันแมว คืออะไร

การทำหมัน คือ การคุมกำเนิดโดยการผ่าตัดนำอวัยวะสืบพันธุ์บางส่วนออก แมวที่ผ่านการทำหมันจะไม่สามรถให้กำเนิดลูกได้อีกต่อไป

    • การทำหมันในแมวเพศเมีย เป็นการผ่าตัดเพื่อเอารังไข่ ท่อนำไข่ และมดลูกออกไป
    • การทำหมันในแมวเพศผู้ เป็นการผ่าตัดเพื่อเอาอัณฑะออกไป (Orchiectomy) 

แรกเกิด อัณฑะของแมวเพศผู้จะอยู่ในช่องท้อง เมื่อโตขึ้นอัณฑะจะเคลื่อนตัวลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ ที่อายุประมาณ 2-5 เดือนโดยเฉลี่ย หากอายุ 6 เดือนแล้วพบว่าอัณฑะยังไม่ลงถุง จะเรียกว่ามีภาวะไข่ทองแดง (Retained Testicle /Cryptorchidism) จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาอัณฑะที่ค้างอยู่ และควรได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดออก หากปล่อยไว้ไม่ผ่าตัดออก อัณฑะที่ค้างอยู่อาจเสี่ยงต่อภาวะอัณฑะบิดขั้ว ซึ่งจัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่มีอันตรายต่อชีวิตได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงสูงอย่างยิ่งต่อการเกิดมะเร็งอัณฑะอีกด้วย

แมวที่มีภาวะไข่ทองแดง ไม่ว่าจะเป็นเพียงข้างเดียวก็ตาม ก็ไม่ควรได้รับการเพาะพันธุ์ต่อ เพราะอาจส่งผ่านความผิดปกติให้รุ่นลูกหลานต่อมาได้

ประโยชน์ของการ ทำหมันแมว

1. คุมกำเนิด ควบคุมจำนวนประชากร

อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าการทำหมันเป็นการคุมกำเนิด-ควบคุมประชากรแมว นอกจากนี้ยังเป็นวิธีช่วยลดปัญหาสัตว์จรจัดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย

2. ช่วยให้มีอายุยืนยาวขึ้น

จากงานวิจัยพบว่า หาก ทำหมันแมว เพศเมียจะมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 39% ส่วนเพศผู้จะมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 62%!

นั่นเท่ากับว่าแมวจะอยู่กับเราได้นานขึ้นอีกครึ่งชีวิตของเขาเลยนะ

เหตุผลก็เพราะ การทำหมันช่วยลดโอกาสการเกิดโรคทางระบบสืบพันธุ์และมะเร็งเต้านม ทั้งยังช่วยให้แมวอยู่ติดบ้านมากขึ้น ลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุจากการออกเที่ยวไปไกลจากบ้าน ทำให้แมวมีพฤติกรรมสงบมากขึ้น ลดปัญหาระหว่างแมว ลดการแย่งชิงเพศเมียเพื่อการผสมพันธุ์ และลดพฤติกรรมก้าวร้าวที่เป็นผลมาจากฮอร์โมนเพศ ทั้งหมดนี้ล้วนส่งเสริมให้แมวมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นกว่าเดิม

3. ทำหมันแมว ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม

งานวิจัยพบว่า หากทำหมันก่อน 6 เดือน (ก่อนการเป็นสัดครั้งแรก) ลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมได้ถึง 91% และหากทำก่อนอายุ 1 ปีจะลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ 86%

มะเร็งเต้านมถือเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 3 ในแมว และจัดเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูงมาก หากตรวจพบโรคแล้ว โดยมากจะมีอายุขัยเหลืออีกไม่ถึง 1 ปีด้วย ความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมจะสัมพันธ์กับการเป็นสัด(ฮอร์โมนเพศที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลานี้) นั่นคือหากแมวมีจำนวนครั้งของการเป็นสัดมาก ความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมก็ยิ่งมากตามไปเรื่อย ๆ

4. ป้องกันโรคทางระบบสืบพันธุ์

โรคทางระบบสืบพันธุ์ เช่น มดลูกอักเสบ ท้องลม อัณฑะบิดพัน  มะเร็งอัณฑะ เป็นต้น

5. ช่วยลดปัญหาทางพฤติกรรม

เมื่อแมวมีอาการเป็นสัด โดยสัญชาตญาณของสัตว์จึงต้องออกหาคู่ หาเพศตรงข้ามเพื่อสืบพันธุ์ บางตัวอาจเผลอเดินทางห่างจากถิ่นที่อยู่อาศัยไปไกลมาก ยิ่งสถานที่ไม่คุ้นเคย ก็ยิ่งมีโอกาสที่พวกมันจะถูกโจมจากแมวเจ้าของอาณาเขตเดิม หรือโดนทำร้ายด้วยสัตว์นักล่าประเภทอื่น หรือแม้แต่ประสบอุบัติเหตุทางท้องถนนได้ง่ายมาก

ในสถานการณ์ที่แมวออกหาคู่แล้วมีเพศตรงข้ามเพียงตัวเดียว ก็มักจะมีการแย่งชิงกันเกิดขึ้น เกิดเป็นความรุนแรงจากการต่อสู้ แมวบางตัวอาจมีแผลบาดเจ็บ ตามมาด้วยการติดเชื้อและเสียชีวิตได้ 

การทำหมันจึงสามารถช่วยลดปัญหาทางพฤติกรรมที่เกิดจากอาการเป็นสัด และฮอร์โมนเพศลงได้

ทำหมันแมว ควรทำที่อายุเท่าไหร่

ทั้งเพศผู้และเพศเมีย สามารถทำหมันได้ตั้งแต่อายุ 5 เดือน* ขึ้นกับสถานพยาบาลและดุลยพินิจของสัตวแพทย์ท่านนั้น ๆ แต่หากอยู่ในสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ไม่สามารถแยกเพศผู้-เมียออกจากกันได้แบบเด็ดขาด สามารถทำหมันให้สัตว์ได้ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ ขึ้นกับดุลยพินิจและความชำนาญของสัตวแพทย์

*อ้างอิงตามคำแนะนำของสมาคมสัตวแพทย์ประเทศสหรัฐอเมริกา (AVMA)

เตรียมตัวก่อนพา แมวทำหมัน

การเตรียมตัวก่อนพาแมวไปทำหมัน

    • ศึกษาหาความรู้ เลือกสถานพยาบาลที่น่าเชื่อถือและมีความชำนาญ ปรึกษาสัตวแพทย์เรื่องการเตรียมตัว วิธีการทำหมันที่แพทย์ใช้ การใช้ยาสลบ และการดูแลหลังผ่าตัด
    • แมวควรได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนก่อนเข้ารับการผ่าตัดทำหมัน
    • เข้ารับการตรวจเลือด ตรวจร่างกายโดยสัตวแพทย์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผ่าตัดทำหมัน
    • เตรียมอุปกรณ์และสถานที่ใช้ดูแลหลังผ่าตัด เช่น จัดสถานที่ให้สะอาดปลอดภัย หลีกเลี่ยงที่สูง เตรียมชุดทำหมันสำหรับตัวเมีย อุปกรณ์กันเลียสำหรับแมวเพศผู้ (Elizabeth Collar) เป็นต้น
    • ปฎิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัด

ผลกระทบจากการทำหมัน

    • แมวไม่สามารถมีลูกได้อีก
    • แมวอาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มได้ง่าย เฉื่อยชาขึ้น ออกกำลังกายลดลง ซึ่งสามารถแก้ไขด้วยการจำกัดปริมาณอาหารต่อวัน และชวนแมวเล่นออกกำลังกาย นอกจากจะช่วยแมวควบคุมน้ำหนักแล้ว การเล่นยังช่วยสร้างสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของและน้องแมว รวมถึงทำให้แมวมีความสุขจากการได้ปลดปล่อยสัญชาตญาณอีกด้วย
    • ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดและการดูแลหลังผ่าตัด เช่น ความเสี่ยงการแพ้ยาดมสลบ การมีแผลติดเชื้อ เป็นต้น

เลี้ยงแมวตัวเดียวควร ทำหมันแมว ไหม?

หากคุณเลี้ยงแมวตัวเดียว…จากคำแนะนำจากองค์กรสัตว์เลี้ยงประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยังแนะนำให้คุณทำหมันแมวของคุณอยู่ดี เพราะการทำหมันยังช่วยลดโอกาสสัตว์เลี้ยงสูญหายเนื่องจากการติดสัดได้ หรือหากมีวันใดที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน แมวของคุณหลุดหายออกจากบ้านไป แมวของคุณก็จะได้ไม่ต้องถูกแมวตัวผู้ตัวอื่นรุมผสม/ไม่ไปพยายามตามผสมตัวเมียจนไปไกลจากบ้านและหาทางกลับไม่ถูก อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาพฤติกรรม และปัญหาระหว่างแมวภายในบ้านเดียวกันได้อีกด้วย

contraceptive pills for cat

ยาคุมกำเนิดแมว...อันตรายที่ควรเลี่ยง

เจ้าของสัตว์เลี้ยงหลายคนอาจเคยเห็นการขายยาคุมกำเนิดผ่านช่องทางออนไลน์กันไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นแบบฉีดหรือกิน …แต่รู้หรือไม่ ยาคุมกำเนิดสำหรับสัตว์ในปัจจุบันยังไม่ได้รับการรับรอง/การขึ้นทะเบียนการค้า เพราะยาเหล่านี้ยังอยู่ในกระบวนการพัฒนา ยังไม่มีงานวิจัยออกมายืนยันถึงผลลัพธ์และผลข้างเคียง

การใช้ยาคุมกำเนิดสำหรับสัตว์ในปัจจุบันยังไม่ได้มาตรฐาน ผลลัพธ์การคุมกำเนิดไม่ค่อยแน่นอน และขาดความปลอดภัยเป็นอย่างมาก ยาคุมกำเนิดสำหรับแมวที่ขายกันอย่างผิดกฎหมายนั้นมีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงมาก ซึ่งทำให้แมวเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้นหลายเท่าตัว และยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับเต้านมอื่น ๆ ด้วย เช่น เต้านมคัดตึงอักเสบ เต้านมขยายผิดปกติ เต้านมติดเชื้อ เป็นต้น และยังทำให้แมวมีความเสี่ยงเป็นโรคทางระบบสืบพันธุ์อย่างมดลูกติดเชื้อ ซึ่งอาจมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

การทำหมันด้วยการผ่าตัดอาจจะฟังดูเหมือนเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เป็นการผ่าตัดขนาดเล็ก สูญเสียเลือดไม่มาก แมวฟื้นตัวได้รวดเร็ว หากเลือกสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีการตรวจเลือดก่อนทำหมัน แมวได้รับวัคซีนครบถ้วน และใช้อุปกรณ์รวมถึงยาดมสลบที่ปลอดภัย ก็ย่อมทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี และเป็นการคุมกำเนิดที่ยั่งยืนที่สุด

สรุป

   การ ทำหมันแมว ไม่เพียงแต่เป็นการทำเพื่อควบคุมประชากรเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์อีกมากมาย ทั้งเรื่องสุขภาพ อายุขัย และพฤติกรรมของแมว โดยเจ้าของสามารถเตรียมตัวแมวได้ด้วยการเลือกสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีความชำนาญ สะอาด และปลอดภัย มีการตรวจเลือดตรวจสอบความพร้อมของแมวในด้านต่าง ๆ รวมถึงสามารถให้คำแนะนำในการดูแลแมวหลังผ่าตัดได้ การทำหมันแมว เป็นวิธีที่มาตรฐานและมีประสิทธิภาพสูงสุด เจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิด เพราะอาจมีผลเสียร้ายแรงถึงแก่ชีวิตแมวตามมาได้

” สนใจเข้าพักกับ โรงแรมแมว ของเราอยู่หรือเปล่า !? “

© All Rights Reserved.

แมวฉี่นอกกระบะ แก้ไขอย่างไร!?

   หลังจากเราทำความเข้าใจการปัสสาวะของแมว และสาเหตุทำไม แมวฉี่นอกกระบะ หรือปัสสาวะไม่เป็นที่แล้ว บทความนี้เราชวนมาแก้ไขปัญหากันดีกว่า! ทุกปัญหามีทางแก้เสมอ และอยากให้เจ้าของทุกท่านพึงระลึกไว้…แมวเองก็ไม่ได้อยากอยู่ในสภาวะเครียด หรือสภาวะที่ไม่ปกติเช่นกัน แมวพร้อมจะให้ความร่วมมือกับคุณเสมอ…หากคุณเข้าใจและใส่ใจเขาเพียงพอ

หากใครยังไม่ได้อ่านบทความที่แล้ว เราขอแนะนำให้อ่านก่อน เพื่อที่จะได้เข้าใจ และหาสาเหตุได้ถูกต้อง และตรงจุดนะ!

คลิก ที่นี่ เพื่ออ่านบทความเรื่อง ทำไมแมวฉี่นอกกระบะ!?

แมวฉี่นอกกระบะ การแก้ไข

วิธีแก้ไข แมวฉี่นอกกระบะ

1. พบแพทย์ก่อน

หากไม่มั่นใจว่าแมวของคุณป่วยหรือไม่ ให้พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อหาความผิดปกติทางกายก่อนเป็นอันดับแรก เพราะการปัสสาวะไม่เป็นที่ก็อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณของโรคต่าง ๆ มากมาย ไม่ใช่เพียงโรคทางเดินปัสสาวะเท่านั้น อาจเกิดมาจากความเครียดของโรคที่ทำให้แมวไม่สบายตัวอื่น ๆ ก็เป็นได้

หากตรวจพบได้รวดเร็วก่อนที่โรคจะลุกลามไปไกลหรือมีอาการหนัก ก็ช่วยให้ผลการรักษาออกมาดี น้องแมวเจ็บตัวน้อย และช่วยทาสประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยนะ !

2. ตรวจสอบสาเหตุ

หากผ่านการตรวจโดยสัตวแพทย์แล้วไม่พบความผิดปกติ ให้ลองนึกย้อนพฤติกรรมของแมวที่เกิดขึ้น จดบันทึกเกี่ยวกับการใช้กระบะทรายของแมวทุกวัน รวมถึงสถานการณ์ทั้งหมดภายในบ้านที่เกี่ยวข้อง จะช่วยให้คุณมองภาพรวมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

    1. ดูลักษณะและปริมาณการปัสสาวะ ขณะที่ แมวฉี่นอกกระบะ – เป็นการนั่งปัสสาวะปกติ หรือเป็นการสเปรย์บนพื้นผิวแนวตั้ง
    2. สถานที่หรือจุดที่แมวปัสสาวะ – ลองทำเครื่องหมายในบริเวณที่แมวปัสสาวะไม่เป็นที่เอาไว้ เก็บข้อมูลว่าแมวมักจะปัสสาวะในจุดเดิม ๆ ซ้ำ ๆ หรือมีความเชื่อมโยงของแต่ละจุดที่ทำการปัสสาวะหรือไม่ เช่น เป็นจุดมืด เงียบ หรือเป็นพื้นผิวลักษณะเดียวกัน เป็นต้น
    3. ติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อดูพฤติกรรมของแมวขณะปัสสาวะนอกกระบะเมื่อเจ้าของไม่อยู่บ้าน หรือดูสถานการณ์โดยรอบ คุณอาจพบว่ามีแมวจรหรือแขกไม่ได้รับเชิญมาเยี่ยมเยียนรอบ ๆ บ้านบ่อย ๆ ก็เป็นได้
    4. สังเกตความเปลี่ยนแปลงภายในบ้าน เสมอ การจดบันทึกกิจกรรม และการให้อาหารแมวทุกวันจะช่วยให้คุณสังเกตสิ่งเหล่านี้ได้ละเอียดและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

3. ทำความสะอาดบริเวณที่ แมวฉี่นอกกระบะ

หากยังมีกลิ่นปัสสาวะตกค้างอยู่ มีโอกาสสูงมากที่แมวจะกลับมาปัสสาวะซ้ำที่เดิม และเมื่อแมวทำที่เดิมซ้ำ ๆ แมวจะเริ่มชินกับบริเวณและพื้นผิวที่ปัสสาวะจนติดเป็นนิสัยได้ จึงควรทำความสะอาดบริเวณนี้ให้สะอาดหมดจด ไม่หลงเหลือกลิ่นที่จะกระตุ้นให้แมวมาปัสสาวะซ้ำได้ อาจเลือกใช้เป็นผลิตภัณฑ์กำจัดกลิ่นที่มีส่วนผสมของเอนไซม์ช่วยสลายกลิ่นได้ดี หรือสารจำพวกเบคกิ้งโซดา (Sodium bicarbonate/Bicarb soda) และน้ำส้มสายชู สามารถช่วยดักจับและกำจัดกลิ่นได้ดี

clean litter box

4. เช็คกระบะทราย

    • ขนาดกระบะทรายที่เหมาะสม : ส่วนมากแมวชอบกระบะทรายขนาดใหญ่ เพื่อที่จะกลับตัวและกลบทรายได้สะดวก
    • ทำความสะอาดกระบะทรายเป็นประจำ
    • มีจำนวนกระบะทรายให้เพียงพอกับจำนวนสมาชิกแมวในบ้าน : สูตรจำนวนกระบะทราย = แมว + 1 นั้นเป็นเพียง ขั้นต่ำ เท่านั้น หากในบ้านมีแมวที่มีปัญหา ฉี่นอกกระบะ ควรเพิ่มจำนวนกระบะทรายให้มากขึ้น และวางกระจายให้ครอบคลุมทุกบริเวณที่แมวสามารถเข้าถึงได้
    • ตรวจสอบสถานที่วางให้เหมาะสม : การวางกระบะทรายทุกกระบะกองรวมกันที่จุดใดจุดหนึ่งนั้นไม่ช่วยอะไร แมวจะมองว่าเป็นกระบะทรายขนาดใหญ่เพียงอันเดียวเท่านั้น นอกจากนี้อย่าลืมวางกระบะทรายให้กระจายทั่วทุกบริเวณที่แมวใช้ชีวิตอยู่…ซึ่งรวมถึงห้องนอนของมนุษย์ด้วย!
    • รูปทรงกระบะทราย…เป็นแบบที่แมวชอบหรือไม่ : กระบะทรายมีหลากหลายรูปแบบ ควรเลือกแบบที่แมวสบายใจที่จะใช้งานมากที่สุด
    • เช็คทรายแมว : ทรายแมวมีหลายประเภท และยังมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อีกมากที่ควรพิจารณา แค่เรื่องกลิ่นเพียงเล็กน้อยก็ทำให้แมวไม่ยอมใช้ได้แล้ว!

5. ป้องกันผู้บุรุกอาณาเขตจากภายนอก

ในกรณีที่แมวใช้ปัสสาวะในการแสดงอาณาเขตหรือทำเครื่องหมายเพื่อเตือนผู้บุกรุก การป้องกันไม่ให้ผู้บุกรุกมาทำให้น้องแมวของเรารู้สึกกระวนกระวาย-รู้สึกไม่ปลอดภัยจากอาณาเขตถูกคุกคาม ดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุด

    • ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดเสมอ
    • เก็บแมวของเราไว้ในห้องที่จะไม่เห็นผู้บุกรุก หรือปิดม่านเป็นเวลา ส่วนมากผู้บุกรุกมักจะมาเวลาเดิม ๆ ของวัน
    • ทำรั้วบ้านให้สูงขึ้น หรือใช้ตะแกรงกั้นระหว่างช่องว่างของรั้ว ก็พอจะช่วยให้ผู้บุกรุกเข้ามาได้ยากขึ้น
cat relationship

6. แก้ปัญหาระหว่างแมว-แมว

ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างแมวเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนมาก ด้วยธรรมชาติของแมวเป็นสัตว์ที่อยู่อาศัยและออกล่าเหยื่อเพียงลำพัง พวกมันไม่ได้รวมกลุ่มกันเป็นกิจวัตร การเข้าสังคมของแมวไม่ได้เป็นจุดเด่นของพวกมันเลย แต่แมวเป็นสัตว์ที่ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดได้ดีมาก พวกมันจึงเริ่มเรียนรู้และปรับตัวเมื่อมีแหล่งอาหาร-ทรัพยากรจำเป็นมากเพียงพอ

แมวยังเป็นสัตว์นักล่าตัวฉกาจ เขี้ยวเล็บ และสรีระทุกส่วนล้วนถูกออกแบบมาเพื่อการล่าเหยื่อ แมวจึงเป็นสัตว์ที่ใช้สัญชาตญาณสูงมาก ทำให้มีพฤติกรรมหลายประการที่ดูจะเป็นความรุนแรงถูกแสดงออกมาเมื่อพวกมันรู้สึกถึงสิ่งที่ผิดปกติไป

อ่านเพิ่มเติม – แมวทะเลาะกัน ควรทำอย่างไร

7. ทำให้เข้าถึงบริเวณ แมวฉี่นอกกระบะ ยากขึ้น

โดยเฉพาะในกรณีที่แมวเริ่มชินกับบริเวณและพื้นผิวที่ทำธุระจนเกิดความเคยชินแล้ว การทำให้สถานที่เหล่านั้นเข้าถึงยากขึ้นเป็นการจูงใจทางอ้อมให้แมวรู้สึกว่าสถานที่แห่งนั้นไม่น่าใช้งานอีกต่อไปแล้ว ร่วมกับการให้รางวัลเมื่อแมวเข้ากระบะอย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้ผลลัพธ์ที่ดีได้มากขึ้น

    • แมวชอบปัสสาวะใส่พรมหรือผ้า: ให้นำพรมหรือผ้านั้นออก
    • แมวชอบปัสสาวะบนพื้นหรือผนัง: ให้ปิดห้องที่แมวชอบไปทำธุระให้เข้าไม่ได้ หรือเลื่อนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่มาบังบริเวณนั้นไว้
    • แมวชอบปัสสาวะบนที่นอน/เบาะ/โซฟา: ใช้เทปกาวสองหน้าติดบนพื้นผิว แมวไม่ชอบสัมผัสของกาวสองหน้าเหนียว ๆ และจะพยายามหลีกเลี่ยง ควรเตรียมกระบะทรายที่เหมาะสมไว้ในบริเวณข้างเคียงทดแทนด้วย

หนึ่งในสิ่งที่เจ้าของหลายท่านมองข้าม นั่นคือการเตรียมกระบะทรายไว้ในห้องนอน บ้านที่ไม่มีกระบะทรายในห้องนอน หลายครั้งที่เราพบว่าแมวมักมีพฤติกรรมปัสสาวะนอกกระบะใส่ที่นอน/ฟูกนอนของมนุษย์ …คุณลองจินตนาการดูว่าหากคุณอยากเข้าห้องน้ำกลางดึกแต่ห้องน้ำอยู่ไกล คุณก็ไม่ค่อยอยากจะขยับตัวเดินไปใช่ไหม? แมวก็เช่นกัน และนี่ก็เป็นวิธีสื่อสารของเขาล่ะ!

เปลี่ยนที่วางกระบะทราย แมวฉี่นอกกระบะ

8. วางกระบะทรายทับบริเวณนั้น

หากจุดที่แมวชอบปัสสาวะนอกกระบะ เป็นจุดที่สามารถขยับเลื่อนเฟอร์นิเจอร์ได้ หรือเป็นพื้นที่ว่าง ให้นำกระบะทรายไปวางแทนที่ จะได้ผลดีมากในกรณีที่แมวติดนิสัยการปัสสาวะในสถานที่นั้นไปแล้ว

9. เปลี่ยนประสบการณ์เข้ากระบะ...ด้วยการฝึก!

แมวบางตัวอาจมีประสบการณ์ไม่ดีจากการเข้ากระบะทรายจนกลายเป็นเหตุการณ์ฝังใจ เช่น เคยเจ็บป่วยเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่ปัสสาวะ ซึ่งแมวอาจมีภาพจำว่าการใช้กระบะทรายทำให้เจ็บปวดได้

ในกรณีเหล่านี้สามารถใช้การฝึกเพื่อเปลี่ยนความรู้สึกที่แมวมีต่อการเข้ากระบะทราย จากด้านลบให้มีประสบการณ์ด้านบวกใหม่ ๆ ก็จะช่วยจูงใจแมวได้มากขึ้น เรียกการฝึกแบบนี้ว่าการทำ Counter-conditioning

    1. ใช้ขนมที่แมวชอบมาก ๆ มาเป็นรางวัล และให้เฉพาะการฝึกนี้เท่านั้น
    2. งดขนมเวลาอื่นทั้งหมด เพื่อเพิ่มแรงจูงใจและเพิ่มมูลค่าให้ขนมที่ใช้
    3. เมื่อแมวใช้กระบะทรายเสร็จ ให้พูดชม และให้ขนมเป็นรางวัล ‘ทันที’ ที่ก้าวออกมาจากห้องน้ำ พยายามทำทุกครั้ง สม่ำเสมอ ทำต่อเนื่องอย่างน้อยประมาณ 1 สัปดาห์แมวจะเริ่มเรียนรู้และเชื่อมโยงว่าการเข้าห้องน้ำ = ขนม = เรื่องดี ๆ 
    4. เวลาเล่นของเล่นกับแมว ให้ใช้ของเล่นล่อไปบริเวณใกล้ ๆ กับที่กระบะทรายตั้งอยู่ จะช่วยทำให้แมวรู้สึกคุ้นเคย และเพิ่มความรู้สึกดีต่อกระบะทรายให้มากขึ้น

ระยะเวลาการฝึกขึ้นกับแมวแต่ละตัว ซึ่งอาจใช้เวลานานหลายเดือนเลยก็เป็นได้ อดทน ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าแมวจะยินยอมใช้กระบะทราย แล้วจึงค่อยลดการให้ขนมเป็นรางวัลลง

สรุป

   ปัญหา แมวฉี่นอกกระบะ สามารถแก้ไขได้ เจ้าของควรใส่ใจต่อพฤติกรรมและสิ่งต่าง ๆ รอบตัวของแมว หากไม่มั่นใจว่าแมวมีความเจ็บป่วยหรือไม่ แนะนำให้พาแมวไปตรวจโดยสัตวแพทย์เพื่อหาโรคทางกายก่อน หากแมวของคุณสบายดีไม่มีโรคใด ๆ ควรตรวจสอบหาสาเหตุของพฤติกรรม ตรวจดูสภาพแวดล้อม ความเหมาะสมของกระบะทรายและทรายแมว การบุกรุกอาณาเขตของแมวต่างถิ่น ปัญหาการทะเลาะกันระหว่างแมวในบ้าน ทรัพยากรกรของแมวแต่ละตัวเพียงพอหรือไม่ และการฝึกแมวก็เป็นหนทางที่จะช่วยแก้ปัญหา แมวฉี่นอกกระบะได้

” สนใจเข้าพักกับ โรงแรมแมว ของเราอยู่หรือเปล่า !? “

© All Rights Reserved.

ทำไม แมวฉี่นอกกระบะ !?

   แมวฉี่นอกกระบะ เชื่อว่าเป็นปัญหาหนักอกหนักใจของใครหลาย ๆ คนแน่ ๆ และยังเป็นหนึ่งในปัญหาที่เจ้าของขาดความเข้าใจแมวมากที่สุดจนนำมาสู่การทอดทิ้งแมวอีกด้วย ! จริง ๆ แล้วการปัสสาวะหรือการทำธุระนกกระบะทรายเป็นการพยายามสื่อสารอย่างหนึ่งของน้องแมว…เพราะเขาพูดไม่ได้ เขาเลยต้องการจะบอกอะไรเจ้าของสักอย่างในแบบของเขา มาชวนทำความเข้าใจน้องแมวไปพร้อม ๆ กันดีกว่า !

ทำไม แมวฉี่นอกกระบะ

การปัสสาวะ...มีความหมายอย่างไร

การปัสสาวะของแมวไม่ใช่แค่การปลดทุกข์เท่านั้น แต่เป็นกระบวนการ ‘สื่อสาร’ อย่างหนึ่งที่สำคัญมาก เพราะแมวเป็นสัตว์มีอาณาเขตของตัวเอง เป็นนักล่าที่ออกล่าเหยื่อเพียงลำพัง และยังรับบทผู้ถูกล่าอีกด้วย แมวจะออกล่าเหยื่อที่ขนาดตัวเล็กกว่าพวกมันเท่านั้น โดยเฉพาะพวกสัตว์ฟันแทะ ในขณะเดียวกันก็ต้องหลบหลีกนักล่าอื่น ๆ ที่มีขนาดตัวใหญ่กว่าอีกด้วย

ปัสสาวะของแมวจึงรับบทบาทหลากหลาย ดังต่อไปนี้

    • บอกอาณาเขต ให้แมวตัวอื่นรับรู้ว่านี่คืออาณาเขตที่มีเจ้าของแล้ว
    • บอกแมวต่างเพศ ว่ามีแมวหนุ่ม-สาวพร้อมผสมอยู่ตรงนี้
    • บอกสัตว์อื่นที่อาจเป็นนักล่าคู่แข่งให้หลีกเลี่ยงไปซะ
    • บอกมนุษย์ว่า ฉันไม่โอเค ฉันไม่ปกติ (โปรดช่วยเหลือฉันที!)

แมวฉี่นอกกระบะ จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากกว่าที่หลายคนคิด เจ้าของส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าการปัสสาวะนั้นสำคัญกับแมวอย่างไร ทำให้พวกมันมักถูกเข้าใจผิดว่า เอาแต่ใจ ประท้วง ต่อต้าน กวนอารมณ์มนุษย์ และมนุษย์เลือกที่จะทำโทษแมวมากกว่าการพยายามทำความเข้าใจ จนนำมาสู่ปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ ตามมา และทำลายความสัมพันธ์ระหว่างกันตามมา

อ่านเพิ่มเติม – ทำไมไม่ควร ทำโทษแมว

ประเภทการปัสสาวะของแมว

แมวฉี่นอกกระบะ ปัสสาวะ
แมวฉี่นอกกระบะ สเปรย์
  1. ปัสสาวะปกติ : แมวปัสสาวะปกติในท่านั่งยอง มักจะกลบตามด้วยทราย-ดิน เพื่อกลบกลิ่นจากนักล่าหรือแมวตัวอื่น ๆ
  2. ปัสสาวะแบบสเปรย์ (Urine marking/Urine spray) : แมวจะปัสสาวะในท่ายืนหันหลังใส่พื้นผิวในแนวดิ่ง ปัสสาวะจะทิ้งร่องรอยไว้ในพื้นผิวนั้น ปริมาณปัสสาวะอาจออกมาเพียงเล็กน้อยก็ได้

สาเหตุ แมวฉี่นอกกระบะ

1. เป็นสัญญาณความเจ็บป่วย

ให้เจ้าของนึกถึงเป็นข้อแรกเสมอ การที่ แมวฉี่นอกกระบะ คือ พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป นี่อาจเป็นสัญญาณความเจ็บป่วยที่สำคัญ หากแมวมีลักษณะปัสสาวะผิดปกติ ท่าทาง รวมถึงระยะเวลาการเข้าห้องน้ำผิดปกติ และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย หรือเจ้าของไม่มั่นใจว่าน้องแมวสบายดีหรือไม่ แนะนำให้พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติเสียก่อน

การตรวจพบความเจ็บป่วยได้ไวเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้แมวได้รับการักษาที่รวดเร็วและทันท่วงทีมากขึ้น แมวก็จะมีโอกาสหายขาดจากโรคนั้น ๆ เร็วยิ่งขึ้น

อย่ารอให้โรคดำเนินไปไกลหรือรอให้อาการหนักจนเกินแก้ ผลการรักษาอาจไม่ดีเท่าที่ควร และยิ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นตามไปด้วย

กระบะทรายแบบโดม

2. เรื่องของกระบะทรายและทรายแมว

อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่อการที่แมวมีพฤติกรรมฉี่นอกกระบะ อย่างกระบะทราย และทรายแมวนั้น ย่อมส่งผลต่อแมวโดยตรงอย่างแน่นอน เจ้าของควรตรวจสอบ สังเกต และศึกษาลักษณะนิสัย รวมถึงความชอบของแมวตัวเองให้ดี แมวแต่ละตัวมีความชอบแตกต่างกันออกไป ควรปรับให้เหมาะสมกับแมวของเรา

ปัญหาจากกระบะทรายและทรายแมวที่พบบ่อย

  • กระบะทรายไม่สะอาด ทำความสะอาดน้อยครั้งจนเกินไป : แมวเป็นสัตว์รักความสะอาด และยังมีอาณาเขตของใครของแมว ดังนั้นแมวบางตัวจะไม่ยอมใช้กระบะที่ผ่านการใช้แล้ว…แม้จะเป็นมูลของตัวเองก็ตาม
  • ขนาดกระบะทรายเล็กเกินไป แมวหมุน/กลับตัวไม่ถนัด
  • แมวไม่ชอบรูปทรงของกระบะทราย : แมวบางตัวก็ไม่ชอบเข้าห้องน้ำอัตโนมัติ บางตัวไม่ชอบกระบะปิด บางตัวก็ไม่ชอบกระบะเปิด ขึ้นอยู่กับความชอบของแมว
  • วางกระบะทรายในที่ไม่เหมาะสม : วางในที่เสียงดัง วางในที่เข้าถึงได้ยากหรือเป็นที่ที่แมวไม่ค่อยใช้ชีวิตในบริเวณนั้น (เช่น ห้องน้ำคน)
  • จำนวนกระบะทรายน้อยเกินไป ไม่มีกระบะทั่วบริเวณบ้าน วางกระจุกในที่ใดที่หนึ่งมากเกินไป
  • แมวไม่ชอบชนิดของทรายแมว กลิ่นทรายฉุนเกินไป
  • ใส่ทรายแมวน้อยหรือเยอะเกินไป

3. แมวมีภาวะติดสัด

หากแมวสเปรย์เพราะสาเหตุนี้ การทำหมันสามารถช่วยแก้ไขได้ แต่หากแมวสเปรย์บ่อย ๆ จนติดเป็นนิสัย แม้ทำหมันแล้วก็อาจไม่สามารถหยุดพฤติกรรมสเปรย์ได้นะ !

ปัจจุบันการทำหมันในประเทศไทยสามารถทำได้ตั้งแต่อายุ 5-6 เดือนเป็นต้นไป โดยควรได้รับวัคซีนครบเสียก่อน การทำหมันก่อนแมวมีภาวะติดสัด จะช่วยลดโอกาสการเกิดพฤติกรรมสเปรย์หรือ แมวฉี่นอกกระบะ ได้ ทั้งยังช่วยปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ และช่วยป้องกันโรคทางระบบสืบพันธุ์ได้อีกด้วย

4. แสดงอาณาเขต

แมวเป็นสัตว์นักล่า ที่ออกล่าเหยื่อเพียงลำพีง และมีอาณาเขตเป็นของตัวเอง โดยธรรมชาติแล้วแมวไม่แบ่งอาณาเขตกัน แม้ว่าแมวจะกลายมาเป็นแมวบ้านไม่ต้องออกล่าเหยื่อเองแล้ว แต่สัญชาตญาณเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ ไม่สามารถลบล้างหรือทำให้หายไปได้

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นแมวแปลกหน้าที่แวะเวียนมานอกบ้าน หรือแม้แต่สัตว์นักล่าประเภทอื่น ก็สามารถทำให้แมวรู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกว่าอาณาเขตบ้านอันแสนสงบสุขกำลังถูกคุกคามได้ทั้งนั้น แมวจึงสเปรย์เพื่อเตือนแขกแปลกหน้า และเพื่อให้ตนเองรู้สึกปลอดภัยขึ้น ทำให้บ้านของเขามีกลิ่นของเขาที่ชัดและแรงขึ้น รวมกับจะป่าวประกาศให้โลกรู้ว่า…นี่คือบ้านของฉัน!

สาเหตุ แมวฉี่นอกกระบะ แมวทะเลาะกัน

5. มีปัญหาระหว่างแมว

เป็นหนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ของบ้านที่เลี้ยงแมวหลายตัว แม้แมวจะเป็นสัตว์มีอาณาเขตและเป็นนักล่าที่ล่าเหยื่อเพียงลำพัง แต่แมวก็สามารถอยู่รวมกลุ่มกันได้ หากมี ‘ทรัพยากร’ เพียงพอ กล่าวคือมีแหล่งอาหาร มีอาณาบริเวณมากพอที่จะแบ่งปันและสร้างอาณาเขตร่วมกันได้ แมวที่ยอมรับเป็นกลุ่มเดียวกัน จะมีการสร้างกลิ่นประจำกลุ่มร่วมกัน (Mutual scent) เพื่อใช้บ่งบอกว่า แมวตัวไหนอยู่กลุ่มเดียวกัน และตัวไหนคือผู้บุรุก

พฤติกรรมสเปรย์อันเนื่องมาจากปัญหาระหว่างแมวที่พบบ่อย

  • ทรัพยากรไม่เพียงพอ : ทั้งแหล่งอาหาร ของใช้ ของเล่น และเวลาจากเจ้าของ
  • มีแมวที่ไม่ได้ยอมรับเป็นกลุ่มเดียวกันตั้งแต่ต้นที่เริ่มอยู่ด้วยกัน

แมวที่กลายมาเป็นแมวบ้าน ก็ยังใช้ลักษณะการสร้างอาณาเขตกลุ่มอยู่ หากในบ้านมีแมวที่ไม่ถูกยอมรับเข้ากลุ่มและยังต้องอาศัยอยู่รวมกัน ย่อมทำให้เกิดความเครียดระหว่างแมวสองกลุ่มนี้ขึ้นได้ และนำมาสู่การทะเลาะเบาะแว้ง เมื่อแมวเครียด…แมวจึงมีพฤติกรรมฉี่นอกกระบะตามมา เพื่อสื่อสารและแย่งชิงอาณาเขตกัน

  • แมวถูกรังแกจากแมวตัวอื่นไม่ให้เข้าถึงทรัพยากร

มักจะเกิดจากการจัดวางทรัพยากรไม่เหมาะสม เอาทรัพยากรชนิดเดียวกันวางกองรวมในบริเวณเดียวกันมากเกินไป ขาดการกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึง และมักพบปัญหาทรัพยากรไม่เพียงพอร่วมด้วย

    จะเห็นได้ว่า การเตรียมทรัพยากรให้พร้อม และการแนะนำแมวเมื่อพาแมวตัวใหม่เข้าบ้านจึงสำคัญมาก เพื่อหลีกเลี่ยงความเครียดและปัญหาความขัดแย้งระหว่างแมวในระยะยาว และเจ้าของควรหมั่นสังเกตพฤติกรรม-ความสัมพันธ์ของแมวแต่ละตัวอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีปัญหาก็ไม่ควรปล่อยผ่าน ไม่ปล่อยปัญหาเรื้อรังจนเกินเยียวยา

6. แมวสูงอายุ

แมวสูงอายุมักมีโรคข้อเสื่อม กระดูกไม่แข็งแรง และมวลกล้ามเนื้อลดลงจากวัยหนุ่มสาว ทำให้ขยับร่างหายลำบากขึ้น กระบะทรายที่เคยใช้อยู่เดิมอาจไม่สามารถปีนเข้าได้ไหว หรือแม้แต่อาจมีโรคทางสมองบางประการ ล้วนส่งผลให้แมวสูงอายุมีพฤติกรรมปัสสาวะนอกกระบะทรายได้

7. แมวรู้สึกไม่ปลอดภัย

แมวเป็นสัตว์ที่ชอบทำอะไรเดิม ๆ ชอบสิ่งที่คาดเดาได้ ชอบกิจวัตรประจำวันของตนเองเป็นอย่างมาก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเพียงใด ก็ส่งผลให้แมวรู้สึกผิดปกติ-รู้สึกไม่ปลอดภัยได้ ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ อย่างการเปลี่ยนเวลาให้อาหาร โดนเจ้าของงดอาหารเปียก ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ อย่างการย้ายบ้าน หรือแม้แต่คนในบ้านหายไป

…อะไรก็ตามที่ผิดแปลกไปจากเดิม สามารถเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ แมวฉี่นอกกระบะ ได้ทั้งนั้น

สรุป

   ปัสสาวะของแมวมีความสำคัญต่อแมวอย่างยิ่ง ทั้งเป็นการสื่อสารต่อแมวตัวอื่น และนักล่าคู่แข่ง และยังเป็นการแสดงอาณาเขตที่ทำให้ตัวของแมวเองสบายใจอีกด้วย ปัญหา แมวฉี่นอกกระบะ จึงเป็นปัญหาซับซ้อน มีหลายสาเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้ เจ้าของควรสังเกตพฤติกรรม ปัญหาระหว่างแมว และอย่าลืมละเลยเรื่องโรคภัยไข้เจ็บของแมวซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่พบบ่อยอีกด้วย

” สนใจเข้าพักกับ โรงแรมแมว ของเราอยู่หรือเปล่า !? “

© All Rights Reserved.

เลือก ทรายแมว อย่างไรให้ถูกใจแมว

   ทรายแมว อาจดูเป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน…ที่ไม่ง่ายอย่างที่คิด ! เพราะทรายแมวไม่ได้มีไว้ให้แมวกลบมูลหรือทำให้แมวขับถ่ายเป็นที่เป็นทางเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อพฤติกรรม สุขภาพจิต และส่งผลต่อการตอบสนองตามสัญชาตญาณที่มีความละเอียดอ่อนมาก ชวนทาสแมวมาทำความเข้าใจ และเลือก ทรายแมว ให้ถูกใจน้องแมวของคุณกันเถอะ

วิธีเลือก ทรายแมว

ทรายแมว มีความสำคัญอย่างไร

   อย่างที่เราเคยได้กล่าวถึงไปในหัวข้อเรื่อง กระบะทรายแมว จะเห็นได้ว่าการขับถ่ายของแมวนั้นมีความสำคัญมาก ไม่เพียงแต่เป็นการปลดปล่อยของเสียออกจากร่างกายเท่านั้น แต่มีความสำคัญในเรื่องของการตอบสนองตามสัญชาตญาณอย่างการทำอาณาเขตอีกด้วย

ทรายแมว นั้นมีความสำคัญกับแมวมาก เป็นตัวช่วยให้แมวขับถ่ายเป็นที่เป็นทาง แมวส่วนใหญ่จะรู้ได้โดยสัญชาตญาณว่าจุดที่มีทรายแมวคือจุดที่ขับถ่ายได้ นอกจากนี้แมวยังกลบมูลของตัวเองตามหลังการปล่อยของเสีย เพื่อกลบกลิ่นไม่ให้ศัตรูนักล่าอื่น ๆ แกะรอยเจอได้ และไม่ให้เหยื่อของมันรู้ตัวนั่นเอง

เมื่อแมวป่าพัฒนามาเป็นแมวบ้าน สัญชาตญาณของแมวก็ไม่ได้หายไปไหน ยังคงอยู่ในตัวแมวอย่างตนบถ้วน แม้จะไม่มีนักล่ามาทำอันตรายหรือเหยื่อให้ต้องออกล่าแล้ว แต่แมวก็ยังมีความต้องการที่จะแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ออกมาอยู่ดี มีงานวิจัยระบุว่าหากแมวไม่สามารถกลบของเสียของตัวเองได้ จะทำให้แมวมีความเครียดมากขึ้น อาจทำให้เกิดโรควิตกกังวล (Anxiety disorder) ในแมวได้อีกด้วย

ทรายแมว มี่กี่ประเภท

1. ทรายดินแบบไม่จับตัวเป็นก้อน (Non-clumping clay litter)

ปัจจุบันไม่ค่อยเป็นที่นิยม จึงพบได้น้อยกว่าประเภทอื่น เป็นทรายแมวชนิดแรก ๆ ที่ผลิตออกมาสำหรับแมว

ทรายชนิดนี้เมื่อโดนของเหลวจะไม่จับตัวเป็นก้อน แต่มีคุณสมบัติดูดซับของเหลวได้ดี ทำให้ไม่มีของเหลวกองที่ก้นกระบะทราย ลดการเกิดกลิ่นได้

ข้อดี

  • ดูดซับกลิ่นได้ดี

ข้อเสีย

  • มีน้ำหนักมาก
  • ตักทรายที่เลอะปัสสาวะออกยาก จึงควรเปลี่ยนทรายทั้งกระบะ 1-2 ครั้ง/สัปดาห์
  • มีฝุ่นค่อนข้างมาก
  • หากแมวกินเข้าไปอาจเป็นอันตรายได้
กระบะทรายแมวแบบเปิดโล่ง

2. ทรายเบนโทไนท์/ทรายภูเขาไฟ (Clay litter)

ใช้วัตถุดิบจากเหมืองผิวดิน (Strip mine) หรือเรียกอีกอย่างว่าเหมืองเปิด คือ การขุดเหมืองแบบเอาหน้าดินที่ไม่ต้องการออก แล้วขุดไปจนกว่าจะเจอแร่ ซึ่งวิธีแบบนี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์มากกว่าการขุดเจาะด้วยอุโมงค์แบบปกติ โดยทรายเบนโทไนท์ที่คุณภาพดีมักจะใช้ชื่อเรียกว่า ทรายภูเขาไฟ แท้จริงแล้วทำมาจากแร่ตัวเดียวกัน เพียงแต่ความบริสุทธิ์ของแร่มีมากกว่าและใช้สารเคมีน้อยกว่า

ข้อดี

  • จับตัวเป็นก้อนได้ดี
  • เก็บกลิ่นได้ดี
  • ใช้กับห้องน้ำอัตโนมัติได้ดี

ข้อเสีย

  • มีน้ำหนักมาก
  • ติดเท้าแมวออกมานอกกระบะมาก
  • ส่วนใหญ่มีฝุ่นค่อนข้างมาก
  • ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต
  • ต้องทิ้งลงถังขยะ ไม่สามารถย่อยสลายได้
  • หากแมวกินเข้าไปอาจเป็นอันตรายได้
ทรายแมว ภูเขาไฟ

3. ทรายคริสตัล (Silica gel litter), ทรายแมว แบบมีรูพรุนให้ของเหลวไหลผ่านลงด้านล่าง

ผลิตมาจากแร่ซิลิกาจากทราย ทรายแมวชนิดนี้จะไม่จับตัวเป็นก้อน แต่ของเหลวจะไหลลงด้านล่างแทน บางแบรนด์ใช้เทคโนโลยีใหม่มาผสมกับแร่ซิลิกาดั้งเดิม และออกแบบให้ใช้แผ่นรองปัสสาวะควบคู่ด้วย เพื่อความง่ายต่อการสังเกตสีปัสสาวะ และการทำความสะอาด

ข้อดี

  • เก็บกลิ่นปัสสาวะได้ดี
  • ไม่มีฝุ่น
  • สังเกตสีปัสสาวะง่าย

ข้อเสีย

  • เม็ดค่อนข้างใหญ่และผิวสัมผัสค่อนข้างหยาบมาก ทำให้ระคายเคืองเท้าแมวได้ง่าย บางตัวอาจไม่ยอมใช้
  • ไม่จับตัวเป็นก้อน ตักทิ้งลำบาก
  • หากแมวกินเข้าไปอาจเป็นอันตรายได้

* ไม่ควรล้างแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำ *

ทรายแมว คริสตัล

4. ทรายที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ (Natural cat litter)

มีทั้งแบบจับตัวเป็นก้อนและไม่จับตัวเป็นก้อน ใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น ไม้สน ไม้เบิร์ส, กากถั่วเหลือง, หญ้า, ข้าวโพด, มันสัมปะหลัง, มะพร้าว, กระดาษ ซึ่งมีทั้งแบบกลิ่นธรรมชาติและแต่งกลิ่นเพิ่มเติม

ข้อดี

  • ปลอดภัยกับแมวแม้เผลอกินเข้าไป
  • เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • ตักทิ้งชักโครกได้ เหมาะกับเลี้ยงในคอนโดหรือพื้นที่จำกัด*

ข้อเสีย

  • ใช้ความระมัดระวังในแมวที่แพ้วัสดุธรรมชาติบางชนิด
  • ทำความสะอาดและตรวจสอบเป็นประจำ สามารถพบเชื้อราได้ในบางชนิด หากไม่ทำความสะอาดเป็นประจำ

*การทิ้งทรายแมวไม่ควรทิ้งลงโถสุขภัณฑ์​ แม้ว่าทรายแมวชนิดนั้นจะถูกออกแบบมาให้ละลายน้ำได้ก็ตาม

ทรายแมวแบบเต้าหู้

ปริมาณ ทรายแมว ที่แนะนำ

โดยทั่วไปควรเททรายให้มีความหนาอย่างน้อย 3-6 เซนติเมตร แต่ก็ขึ้นกับความชอบของแมวแต่ละตัว โดยเฉพาะแมวเด็กมักมีพฤติกรรมชอบขุดทรายจำนวนมาก อาจเททรายให้หนาขึ้นได้ เจ้าของควรสังเกตความชอบของแมวของคุณและปรับตามความเหมาะสม แต่ไม่ควรเหลือทรายน้อยจนเกินไป จะทำให้แมวรู้สึกไม่สะอาด ไม่สามารถกลบมูลได้มิด และไม่ยอมใช้กระบะทรายได้

สิ่งที่ควรพิจารณาเมื่อเลือก ทรายแมว

การเลือกทรายแมวมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สามารถมีผลต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจของแมวได้ เจ้าของจึงควรสังเกตพฤติกรรม-ความชอบของแมวตัวเอง และปรับไปตามความชอบของแมว หากเลือกทรายแมวที่ไม่เหมาะกับน้องแมวของเราแล้ว ก็อาจทำให้เกิดปัญหา แมวทำธุระนอกกระบะ ขึ้นได้

1. ขนาดเม็ดทราย

ทรายที่มีขนาดเม็ดใหญ่จะทำให้แมวรู้สึกไม่สบายเท้า อุ้งเท้าแมวสามารถรับสัมผัสได้ไวและบอบบางมาก ทรายเม็ดใหญ่จะทำให้การเดินบนทราย-การขุด-การกลบทำได้ลำบากกว่า โดยเฉพาะแมวสูงอายุที่เริ่มมีปัญหาข้อเสื่อมหรือเดินลำบาก การเลือกทรายเม็ดใหญ่จะทำให้ต้องเกร็งกล้ามเนื้อ ส่งผลให้ข้อต่าง ๆ รับภาระหนักขึ้น ทำให้แมวมีอาการปวดรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แมวเลิกใช้กระบะทรายก็เป็นได้ นอกจากนี้ทรายแมวที่มีขนาดเม็ดใหญ่มักจะจับตัวกับอุจจาระไม่ค่อยดี ทำให้กลบกลิ่นอุจจาระได้ไม่ค่อยดีอีกด้วย

ปัจจัยการเลือก ทรายแมว

2. กลิ่น

แมวมีจำนวนเซลล์รับกลิ่นมากกว่ามนุษย์ถึง 14 เท่า …แม้แมวจะมีการรับกลิ่นไม่ดีเท่าสุนัขก็ตาม แต่ก็ดีกว่ามนุษย์อย่างแน่นอน! กลิ่นทรายแมวที่คนอาจรู้สึกว่าหอม หรือเป็นเพียงกลิ่นอ่อน ๆ ในมุมมองของแมวอาจเป็นกลิ่นที่ฉุนเกินไป (เปรียบเหมือนคนฉีดน้ำหอมหมดขวด) ซึ่งก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้แมวปฏิเสธการใช้กระบะทรายได้เช่นกัน เราจึงขอแนะนำให้เลือกทรายที่ไม่มีกลิ่น หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ แนะนำให้เปิดปากถุงทรายทิ้งไว้เพื่อให้กลิ่นจางก่อนนำมาใช้งาน

3. ฝุ่น

ทรายแมวที่ฝุ่นฟุ้งกระจายเยอะเป็นอุปสรรคต่อการใช้งานทั้งคนและแมว อาจทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ-ระคายเคืองดวงตาได้ง่าย และสามารถกระตุ้นอาการภูมิแพ้/หอบหืดทั้งคนและแมวได้ จึงควรเลือกทรายแมวที่มีฝุ่นน้อยที่สุด

4. ความสามารถในการจับตัวเป็นก้อน

เพื่อให้ง่ายต่อการตักทำความสะอาด และช่วยให้ปัสสาวะไม่ไหลเลอะเทอะจนสกปรกไปทั้งกระบะทราย แมวเป็นสัตว์รักความสะอาด หากกระบะสกปรก หรือมีกลิ่นมูลฉุน ๆ เหลือทิ้งไว้ก็อาจทำให้แมวไม่ยอมเข้ากระบะทรายได้

5. สีของทรายแมว

แนะนำให้เลือกใช้ทรายที่มีสีอ่อนหรือสีขาว สามารถช่วยให้สังเกตสีของปัสสาวะได้ง่าย ทำให้พบความผิดปกติได้รวดเร็วหากแมวมีสีปัสสาวะเปลี่ยนไป เช่น ปัสสาวะมีสีชมพูเกิดจากมีเลือดปน การใช้ทรายสีเข้มอาจทำให้สังเกตความผิดปกติได้ยากและล่าช้าได้

6. การติดเท้าแมว

เน้นทรายที่ติดเท้าแมวออกมาน้อยจะส่งผลดีในแง่ของการลดการกระจายเชื้อโรคสู่มนุษย์ และเก็บกวาดทำความสะอาดง่าย

ใช้ทรายก่อสร้างได้หรือไม่

เราไม่แนะนำให้ใช้ทรายก่อสร้าง เนื่องจากทรายก่อสร้างมักจะมีสิ่งสกปรกปนเปื้อนได้มาก เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ, ไม่จับตัวเป็นก้อน ทำความสะอาดยาก ตักของเสียทิ้งลำบาก, เก็บกลิ่นไม่ดี และมีฝุ่นเยอะมาก

ฝึกแมวใช้โถสุขภัณฑ์มนุษย์…ดีไหม!?

ยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบของการฝึกแมวใช้โถสุขภัณฑ์อย่างจริงจังว่าจะส่งผลทำให้แมวเครียดหรือไม่…แต่เราไม่แนะนำให้ทำเป็นอย่างยิ่ง!

  • สะดวกเจ้าของ…แต่ผิดธรรมชาติของแมว : อย่าลืมว่าแมวชอบกลบของเสียตามสัญชาตญาณมาช้านานแล้ว การที่แมวไม่ได้กลบก็มีโอกาสกระตุ้นความเครียด/รู้สึกไม่ปลอดภัย/วิตกกังวลได้
  • ทำให้สังเกตปัสสาวะ-อุจจาระไม่ได้ : หากแมวป่วยจะเจอความผิดปกติช้า และได้รับการรักษาล่าช้า
  • การจราจรไม่ดี : ห้องน้ำคน 1 ห้อง นับเป็นแค่กระบะทราย 1 อันเท่านั้น! นอกจากจะต้องแย่งใช้กับเพื่อนแมวด้วยกันแล้ว ยังต้องมาแย่งใช้กับคนอีก
  • ต้องกระโดดเพื่อใช้งาน : เมื่อแมวแก่ตัวหรือเริ่มมีโรคข้อกระดูกเสื่อม จะทำให้ใช้งานได้ยาก สุดท้ายแมวอาจมีปัญหาขับถ่ายไม่เป็นที่ตามมา
  • เสี่ยงอุบัติเหตุ : แมวอาจพลาด พลัดตกลงไปในโถสุขภัณฑ์ อาจบาดเจ็บ หรือเข็ดขยาดกับการใช้ห้องน้ำไปเลย
  • พาแมวไปนอกสถานที่หรือพักโรงแรมไม่ได้ : เพราะแมวไม่ได้ถูกฝึกให้ใช้กระบะทราย

สรุป

   ทรายแมวเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ส่งผลต่อการใช้งานกระบะทรายของแมว ซึ่งแมวแต่ละตัวก็มีความชอบที่แตกต่างกัน เจ้าของควรสังเกตแมวอย่างใกล้ชิด ดูพฤติกรรม ความชอบ และเลือกใช้ชนิดของทรายแมวให้เหมาะสม พิจารณาปัจจัยทุกข้อก่อนเลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นขนาดเม็ดทราย กลิ่น ฝุ่น สี ความสามารถการจับตัวเป็นก้อน และการติดเท้าแมว การใช้ทรายแมวที่ดีและได้มาตรฐานย่อมสนับสนุนสุขภาพที่ดีของแมว ลดโอกาสการติดเชื้อ และทำให้แมวได้ตอบสนองสัญชาตญาณในแบบของแมวได้อย่างเป็นธรรมชาติ

” สนใจเข้าพักกับ โรงแรมแมว ของเราอยู่หรือเปล่า !? “

© All Rights Reserved.

เทคนิคเลือก กระบะทราย ให้เหมาะกับแมว

   กระบะทราย ไม่เพียงแค่เป็นที่ไว้ขับถ่ายสำหรับแมวเท่านั้น ยังเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญ…อาจจะเรียกได้ว่าสำคัญที่สุดเลยก็เป็นได้ ! การเลือก กระบะทราย ให้เหมาะสมกับน้องแมวของเรา นอกจากจะช่วยลดปัญหาพฤติกรรมที่พบบ่อยอย่างการขับถ่ายนอกกระบะทรายแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจ และบุกคลิกของแมวอีกด้วย มันมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรนะ…ไปดูกันเลย

การเลือก กระบะทราย แมว

ความสำคัญของ กระบะทราย

แมวเป็นสัตว์ที่อยู่ตรงกลางของห่วงโซ่อาหาร…รับบทเป็นทั้งผู้ล่า และผู้ถูกล่าในเวลาเดียวกัน แมวเป็นสัตว์กินเนื้อที่มีพฤติกรรมการล่าเหยื่อเพียงลำพัง พวกมันจะไม่ออกล่าเป็นฝูงโดยเด็ดขาด แมวจึงเป็นสัตว์ที่มีอาณาเขตของใครของมัน

การอุจจาระของแมวมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในอุจจาระของแมวจะมีฟีโรโมนซึ่งเป็นกลิ่นเฉพาะของแมวแต่ละตัวอยู่ด้วย พวกแมวจะใช้กลิ่นฟีโรโมนเหล่านี้ในการสื่อสารทางอ้อมระหว่างกันและกัน ไม่ให้แมวตัวอื่นมายุ่มย่ามที่อาณาเขตของตน และพวกมันก็พร้อมที่จะต่อสู้หากมีผู้บุกรุกอีกด้วย

แต่ในขณะเดียวกัน…ด้วยความที่แมวก็ตกเป็นเหยื่อของนักล่าที่มีขนาดตัวใหญ่กว่า พวกมันจึงต้องการพื้นที่ที่เหมาะสม สามารถใช้ดินหรือทรายกลบกลิ่นตามหลังการอุจจาระได้ เพื่อกลบร่องรอยของตัวเองจากนักล่าที่อาจเป็นอันตรายเช่นกัน แม้แมวจะกลายมาเป็นแมวบ้านที่ไม่ต้องถูกล่าด้วยนักล่าขนาดใหญ่แล้วก็ตาม แต่สัญชาตญาณเหล่านี้ก็ยังคงสืบทอดอยู่ในรหัสพันธุกรรมแมวอย่างครบถ้วน

กระบะทราย สำหรับแมวนั้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากแมวไม่สามารถใช้กระบะทรายได้อย่างสบายใจ หรือมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ย่อมนำมาสู่ปัญหาพฤติกรรม และก่อให้เกิดความเครียดตามมาได้

กระบะทราย มี่กี่แบบ?

1. แบบเปิดโล่ง...คลาสสิคตลอดกาล

ข้อดี

    • แมวทุกเพศทุกวัยส่วนมากชอบใช้กระบะประเภทนี้
    • เหมาะกับบ้านที่เลี้ยงแมวหลายตัวและมีพฤติกรรมซุ่มโจมตีแมวตัวที่กำลังเข้ากระบะอยู่ เนื่องจากแบบเปิดโล่งมีทางเข้าออก และทางหนีให้แมวออกได้หลายทาง ช่วยลดปัญหาแมวไม่ยอมใช้กระบะทรายเนื่องจากโดนรังแกจากแมวตัวอื่นได้
    • ราคาถูก หาซื้อได้ง่าย ประยุกต์ใช้งานได้ง่าย

ข้อเสีย

    • เก็บกลิ่นได้ไม่ค่อยดี
    • ทรายแมวกระจายออกมาปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมได้ง่าย
    • ภาพอาจไม่สวยงาม ไม่น่าชม
กระบะทรายแมวแบบเปิดโล่ง

2. แบบเปิดโล่งแต่มีขอบสูง

ข้อดี

    • มีข้อดีเหมือนกระบะแบบเปิดโล่ง และลดการกระจายของทรายแมวได้มากขึ้น

ข้อเสีย

    • เก็บกลิ่นได้ไม่ค่อยดี
    • หากทางเข้าสูงเท่าขอบโดยรอบ จะไม่ค่อยเหมาะกับแมวสูงวัยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อม
    • ขอบที่สูงขึ้นมาอาจทำให้แมวบางตัวรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะใช้กระบะทราย เนื่องจากทัศนวิสัยไม่ดี ไม่สามารถเห็นสถานการณ์โดยรอบได้อย่างทั่วถึง

คำแนะนำ:  ความสูงขอบโดยรอบไม่ควรสูงเกินกว่าความสูงของแมว

กระบะทรายขอบสูง

3. แบบโดม/มีฝาปิด

ข้อดี

    • เก็บกลิ่นได้ดีกว่ากระบะทรายแบบเปิด
    • ลดการกระจายของทรายแมวได้ดีขึ้น
    • ดูสะอาดตามากขึ้น

ข้อเสีย

    • ไม่เหมาะกับแมวสูงวัยที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อม
    • ทัศนวิสัยของแมวขณะใช้กระบะไม่ค่อยดี
    • ทางเข้าออกมีทางเดียว อาจทำให้แมวบางตัวไม่ยอมใช้ หากโดนซุ่มโจมตีจากแมวตัวอื่นจะไม่มีทางหนี เพิ่มโอกาสการทะเลาะกันระหว่างแมวได้

คำแนะนำ: แบบโดมมักมีประตูใสติดอยู่ที่ทางเข้าออก แนะนำให้นำประตูใสออก เพื่อให้แมวกล้าใช้ และสะดวกสบายในการเข้ากระบะทรายมากขึ้น หากแมวยังคงไม่ยอมใช้กระบะ ให้นำฝาครอบออกเพื่อเปลี่ยนเป็นกระบะแบบเปิดโล่งแทน

กระบะทรายแบบโดม

4. แบบอัตโนมัติ

ข้อดี

    • ให้ความสะดวกสบายแก่เจ้าของ ไม่ต้องคอยตักของเสียออกทุกวัน และเก็บกลิ่นได้ค่อนข้างดี
    • มีตัวเลือกการใช้งานหลากหลาย สามารถบันทึกข้อมูลแมว, จำนวนการใช้งาน, ระยะเวลาการใช้ในแต่ละครั้ง ซึ่งฟังก์ชันการใช้งานเหล่านี้ขึ้นกับแบรนด์ที่คุณเลือกใช้ ควรศึกษาให้ดีก่อนเลือกใช้
    • ข้อมูลสามารถเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือได้

ข้อเสีย

    • ข้อเสียเช่นเดียวกับกระบะทรายแบบโดม
    • บางเครื่องจำกัดการใช้กับทรายแมวบางประเภทเท่านั้น
    • มีราคาแพง แบบอัตโนมัติ 1 เครื่องก็ยังนับว่าเป็นกระบะทราย 1 อันเท่าเดิม หากมีแมวหลายตัวก็ควรมีหลายเครื่อง หรือวางกระบะธรรมดาเสริมด้วย
    • สังเกตอุจจาระและปัสสาวะของแมวได้ไม่ดีนัก หากมีปัญหาเจ็บป่วย/ความปิดปกติ อาจสังเกตพบได้ล่าช้า
    • เครื่องจักรอาจทำงานผิดพลาดได้ง่าย 

ข้อควรระวัง: ควรศึกษาข้อมูลความปลอดภัยต่าง ๆ ก่อนเลือกซื้อ และหมั่นบำรุงรักษาอยู่สม่ำเสมอ เช่น ระบบการตรวจจับแมว เซนเซอร์น้ำหนัก ระบบความปลอดภัยขณะเครื่องหมุนตักสิ่งสกปรก เป็นต้น

กระบะทรายแมวอัตโนมัติ

Q : แบบเปิดโล่งดีที่สุด...จริงไหม?

มีงานวิจัยมากมายได้พยายามทดลองสมมติฐานดังกล่าว ผลส่วนใหญ่พบว่า แมวเลือกทั้งกระบะทรายแบบเปิดโล่ง และแบบโดมพอ ๆ กัน ไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยจะพบว่ามีแมวเพียงบางตัวเท่านั้นที่เลือกแบบใดแบบหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวของแมว

โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า แมวแต่ละตัวมีลักษณะนิสัยและความชอบแตกต่างกัน หากเจ้าของอยากทราบว่าแมวของเราชอบอะไรมากที่สุด เราขอแนะนำให้วางกระบะทรายทั้งสองแบบแล้วเปรียบเทียบการใช้งานดูจะดีที่สุดนะ !

จำนวน กระบะทราย ที่เหมาะสม

กระบะทรายควรมีจำนวน = N + 1 กระบะเป็นอย่างน้อย

โดย N คือ จำนวนของแมว หรือแมวที่อยู่ในกลุ่มสังคมเดียวกัน

ตัวอย่าง: หากมีแมว 3 ตัวภายในบ้าน ควรมีกระบะทรายอย่างน้อย 4 กระบะ

"แมวใช้กระบะทรายด้วยกันไม่ได้เหรอ? "

คงเป็นเป็นถามที่หลาย ๆ เกิดความสงสัยขึ้นมา… วันนี้เรามาชวนหาคำตอบไปด้วยกัน

โดยธรรมชาติแล้ว แมวเป็นสัตว์มีอาณาเขต เป็นนักล่าที่ออกล่าเพียงลำพัง พวกมันทำแบบนี้มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเป็นเวลากว่า 10,000 ปีมาแล้ว แม้จะกลายมาเป็นแมวบ้านถูกเลี้ยงโดยมนุษย์ก็ตาม ทั้งรหัสพันธุกรรมและสัญชาตญาณของแมวยังคงเหมือนเมื่อหมื่นปีที่แล้วอย่างครบถ้วน

เมื่อสังคมมนุษย์เกิดขึ้น และมนุษย์เริ่มรู้จักทำการเกษตร มีการเก็บเกี่ยวและจัดเก็บธัญพืชแม้ในฤดูที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้อย่างฤดูหนาว สัตว์ฟันแทะจำนวนมากจึงได้เข้ามาขโมยพืชผลทางการเกษตรของมนุษย์ และเมื่อสัตว์เหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้น…แน่นอนว่าพวกมันก็เป็นเหยื่อรสเลิศของแมวตามห่วงโซ่อาหารด้วยเช่นกัน

พวกแมวจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทช่วยกำจัดพวกสัตว์ฟันแทะเหล่านี้ เกิดเป็นความสัมพันธ์แบบต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ระหว่างแมวและมนุษย์ ยิ่งมีจำนวนเหยื่อหรือบรรดาแหล่งอาหารของแมวชุกชุมมากเท่าใด ก็ยิ่งดึงดูดแมวตัวอื่น ๆ เข้ามาเพื่อหาอาหารมากขึ้นเท่านั้น …เพราะชีวิตคือการอยู่รอด

การรวมกลุ่มของแมวจึงเกิดขึ้นเมื่อ ‘มีทรัพยากรเพียงพอ’

การจับสัตว์มีอาณาเขตของใครของมัน-นักล่าผู้โดดเดี่ยวอย่างแมวมาอาศัยอยู่ร่วมกันนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมี ‘ทรัพยากร’ อย่างเพียงพอนั่นเอง ยิ่งเป็นกระบะทรายที่เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ใช้บ่งบอกอาณาเขตด้วยแล้ว หากมีจำนวนไม่เพียงพออาจทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรม อย่างแมวทำธุระนอกกระบะทรายซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อยที่สุด หรือปัญหาเรื่องการแย่งชิงอาณาเขตตามสัญชาตญาณแบบแมว ๆ ก็เป็นได้

"แมวที่อยู่ในกลุ่มสังคมเดียวกันคืออะไร"

คือ แมวที่ยอมรับกันและกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สามารถอยู่ร่วมกันภายในอาณาเขตเดียวกันได้ โดยมีการสร้างกลิ่นร่วมกันของกลุ่ม

แมวที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ควรมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกต่อกัน เช่น เอาตัวถูกัน เอาจมูกชนกัน เลียให้กันและกัน เล่นกันได้โดยไม่มีการขู่หรือการทะเลาะกัน ไม่มีการหวงทรัพยากรระหว่างกันและกัน แมวทุกตัวในกลุ่มสังคมเดียวกันควรสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างอิสระ ในกรณีนี้สามารถใช้จำนวนกลุ่มแมวมาแทน N ในสมการได้

อย่างไรก็ตาม หากมีแมวหลายตัวอยู่ในกลุ่มสังคมเดียวกัน เราขอแนะนำว่าให้มีจำนวนกระบะทรายอย่างน้อย 2 ตัวต่อ 1 กระบะ เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างรักความสะอาดมาก ไม่ชอบการเข้าห้องน้ำและการปล่อยอาณาเขตซ้ำทับกับใคร หากจำนวนกระบะทรายมีน้อยเกินกว่าจำนวนแมวมาก อาจทำให้กระบะทรายเต็มอย่างรวดเร็ว และสกปรก ทำให้แมวไม่ยอมใช้งาน ทำให้มีปัญหาพฤติกรรมตามมา หรือแมวอาจกลั้นอุจจาระปัสสาวะจนนำมาสู่ความเจ็บป่วยได้

ตัวอย่าง: มีแมวจำนวน 6 ตัวที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันตลอด อาศัยอยู่ในกลุ่มสังคมเดียวกัน ดังนั้นควรมีกระบะทรายอย่างน้อย 3 กระบะนั่นเอง

ข้อควรระวัง – การมีสมาชิกแมวหลายตัวอยู่รวมกัน แม้จะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน แต่หากวันใดเกิดปัญหาให้ผิดใจกันขึ้นมาอาจนำมาสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ หากไม่เป็นการยากลำบากจนเกินไป เราก็ยังขอแนะนำให้คุณมีจำนวนกระบะทรายมากกว่าจำนวนแมวอย่างน้อย 1 กระบะเสมอ…การป้องกันดีกว่าการแก้ไขเสมอ เพราะหากแมวเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วจะแก้ไขได้ค่อนข้างยาก

ขนาด กระบะทราย ควรเป็นอย่างไร?

ขนาดกระบะทรายที่เหมาะสม ควรมีขนาดใหญ่พอที่แมวจะสามารถหมุนตัว-กลับตัวได้อย่างสะดวกสบาย

    • ขนาด ความกว้างขั้นต่ำ กระบะทราย = ความยาวตั้งแต่หัวจนถึงโคนหางของแมว
    • ขนาด ความยาวขั้นต่ำ กระบะทราย = 1.5 เท่า ของความยาวตั้งแต่หัวถึงโคนหางของแมว หรือ ตั้งแต่หัวถึงปลายหาง (วัดขณะหางแมวขนานกับพื้น)

ตำแหน่งการวาง...สำคัญไหม?

พื้นฐานพฤติกรรมของแมว แมวจะชอบทำกิจกรรมในบริเวณที่เจ้าของอยู่อาศัยและใช้งานบ่อยที่สุด ทำให้พวกมันสบายใจ รู้สึกปลอดภัย รู้สึกเชื่อมโยงกับเจ้าของ ตำแหน่งที่เหมาะสมในการวางกระบะทรายมากที่สุดจึงเป็นบริเวณที่เจ้าของใช้ชีวิตเป็นส่วนใหญ่ เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องทำงาน เป็นต้น

ควรหลีกเลี่ยงการวางกระบะทรายใกล้กับสิ่งของที่ส่งเสียงรบกวน หรือเครื่องจักรที่มักจะทำงานอยู่บ่อย ๆ เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เพราะอาจทำให้แมวตกใจและมีประสบการณ์ไม่ดีกับการเข้ากระบะทราย จนอาจทำให้แมวไม่ยอมใช้กระบะทรายอีกเลยแม้จะย้ายที่แล้วก็เป็นได้

ห้องน้ำของมนุษย์ก็เป็นอีกจุดที่ไม่ควรวางกระบะทราย นอกจากจะมีอากาศถ่ายเทไม่ดี มีความชื้นปริมาณมากแล้ว ยังทำให้การเข้าถึงลำบาก หากมนุษย์ใช้ห้องน้ำเป็นเวลานานหรือใช้ในช่วงเวลาเดียวกับที่แมวต้องการใช้ ก็จะทำให้แมวไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งอาจนำมาสู่การปัสสาวะ-อุจจาระนอกกระบะทรายได้เช่นกัน

หากคุณมีกระบะทรายหลายกระบะ ก็ ควรวางทุกกระบะแยกกัน ทั้งหมด เพื่อกระจายทรัพยากรให้แมวทุกตัวสามารถเข้าถึงได้ง่าย การวางกระบะทรายหลายกระบะรวมกันในจุดเดียวแมวจะมองว่านั่นคือกระบะทรายขนาดใหญ่อันเดียวเท่านั้น กลายเป็นว่าไม่ใช้ประโยชน์จากการมีกระบะทรายจำนวนมากเลย

หากบริเวณบ้านมีพื้นที่กว้างขวางหรือมีหลายชั้น ก็ควรวางกระจายทุกชั้นในทุกบริเวณที่แมวใช้ชีวิต เพื่อให้แมวเข้าถึงและใช้งานได้สะดวก และเป็นการกระจายอาณาเขตให้ทั่วบริเวณ​ ซึ่งจะช่วยให้แมวรู้สึกสบายใจ รู้สึกปลอดภัย ส่งเสริมลักษณะตามสัญชาตญาณของแมวได้ดีอีกด้วย

คนยังไม่อยากวิ่งขึ้น-ลงไปเข้าห้องน้ำไกล ๆ เลยใช่ไหม ?

ฝึกแมวเข้า กระบะทราย อย่างไร?

    1. นำมูลของแมวไม่ว่าจะเป็นอุจจาระหรือปัสสาวะไปใส่ไว้ในกระบะทราย
    2. กล่าวชม และให้รางวัลเมื่อแมวแสดงท่าทีสนใจกระบะทรายหรือเมื่อแมวเข้าไปใช้งาน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการใช้
    3. หากเป็นลูกแมว อาจใช้วิธีอุ้มเข้ากระบะทรายเพื่อให้ก้นจุ่มลงไปในทรายได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้กับแมวที่โตแล้ว อาจเป็นการทำให้แมวระแวงและไม่ไว้ใจมากกว่าเดิม

แมวส่วนใหญ่สามารถเข้ากระบะทรายได้เองโดยสัญชาตญาณ หากแมวของคุณไม่ยอมใช้กระบะทรายเองแล้วล่ะก็ ให้ลองกลับไปตรวจสอบปัจจัยทั้งหมดอีกครั้ง ทั้งลักษณะกระบะทราย จำนวน ตำแหน่งที่วาง ความสะอาด ประเภททรายแมว ความหนาของทรายแมว กลิ่น และความสัมพันธ์ระหว่างแมว-แมวด้วยกัน และพาแมวพบสัตวแพทย์เพื่อหาความเจ็บป่วยทางกายด้วย เพราะเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยและมักจะถูกมองข้าม

อย่าลืมว่าการปัสสาวะ-อุจจาระ เป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งของแมว หากแมวของคุณมีปัญหากับการเข้ากระบะทรายอยู่ละก็…แสดงว่าแมวเขากำลังพยายามบอกอะไรบางอย่างกับคุณอยู่ !

วิธีทำความสะอาดกระบะทราย

    • ควรตักของเสียอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง รักษาความสะอาดสม่ำเสมอ
    • เปลี่ยนทรายแมวใหม่ทั้งกระบะอย่างน้อยทุก 2-4 สัปดาห์ หรือบ่อยกว่านี้หากแมวใช้บ่อย …อย่าเสียดายทรายแมว !
    • คำแนะนำจาก AAHA (American Animal Hospital Association) เพียงแช่กระบะทรายในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 65-70 องศาเซลเซียสขึ้นไปเป็นเวลา 3-5 นาที จากนั้นใช้ฟองน้ำถู แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ก็สามารถกำจัดสิ่งสกปรกและฆ่าเชื้อโรคได้อย่างเพียงพอ สามารถใช้สบู่อ่อนหรือน้ำยาล้างจานร่วมด้วยได้

× ไม่ ควรใช้สารเคมี สารฟอกขาว หรือน้ำยาที่มีฤทธิ์กัดกร่อน นอกจากจะเพิ่มโอกาสมีสารเคมีตกค้างแล้ว ยังมีกลิ่นฉุนรบกวนแมว อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้แมวไม่ยอมใช้กระบะทรายอีกเลยก็ได้ นอกจากนี้สารเคมีเหล่านี้ยังสามารถทำปฏิกิริยากับปัสสาวะที่ตกค้าง เกิดเป็นสารพิษที่มีอันตรายต่อร่างกายได้อีกด้วย

สรุป

กระบะทรายแมวถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของแมว เจ้าของจึงควรใส่ใจ เลือกประเภทของกระบะทรายที่เหมาะกับแมวของเรา โดยคำนึงถึงข้อดีและข้อเสีย มีจำนวนกระบะทรายอย่างเพียงพอ มีการจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสม รวมถึงมีการรักษาความสะอาดอยู่เป็นประจำ แมวเป็นสัตว์ที่ละเอียดอ่อนมาก ทุกปัจจัยแม้เพียงเล็กน้อยย่อมส่งผลถึงกันและมีความสำคัญต่อการแสดงออกของแมวอย่างยิ่ง หากข้อใดข้อหนึ่งบกพร่องไปก็อาจทำให้แมวมีปัญหาพฤติกรรมหรือส่งผลต่อสุขภาพตามมาได้

” สนใจเข้าพักกับ โรงแรมแมว ของเราอยู่หรือเปล่า !? “

© All Rights Reserved.

ฝึกแมวนั่งรถ อย่างไรไม่ให้แมวเครียด

   การพาแมวนั่งรถคงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตลอดชีวิตของน้องแมวอาจประสบกับความเจ็บป่วย ต้องไปพบแพทย์ ย้ายที่อยู่ หรือแม้แต่การฝากโรงแรมแมว การ ฝึกแมวนั่งรถ จึงเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งที่เจ้าของควรเตรียมตัวให้น้องแมวมีความคุ้นชินก่อนจะต้องเดินทางจริง หากไม่มีการเตรียมตัวล่วงหน้าจะทำให้แมวเกิดความเครียดได้มาก

ฝึกแมวนั่งรถ

ฝึกแมวนั่งรถ มีความสำคัญอย่างไร

   แมวเป็นนักล่า เป็นสัตว์กินเนื้อที่มีอาณาเขตของตัวเองอย่างชัดเจน พวกมันชอบทำอะไรเดิม ๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง รักและยึดมั่นในกิจวัตรประจำวันของตัวอย่างเป็นอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้แมวเกิดความเครียด-วิตกกังวลได้

รถยนต์ หรือการเดินทางออกจากอาณาเขต ย่อมทำให้แมวเกิดความเครียดได้หากไม่เคยได้รับการฝึกฝนทักษะมาก่อน ทั้งจากเสียงเครื่องยนต์ที่ส่งเสียงดัง สถานการณ์/สถานที่ในรถที่ไม่คุ้นเคย สิ่งเร้าภายนอกที่มองเห็นผ่านหน้าต่าง หรือแม้แต่ความเร็วที่เปลี่ยนแปลงไปขณะที่รถกำลังวิ่ง ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่แมวในธรรมชาติย่อมไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน

หากแมวไม่เคยผ่านการ ฝึกแมวนั่งรถ มาก่อน แมวอาจมีอาการวิตกกังวล กลัว กระวนกระวน ส่งเสียงร้องตลอดการเดินทาง แอบซ่อนตัว สั่นกลัว น้ำลายไหล หอบเหนื่อย หรืออาจถึงขั้นช็อคได้ และในการนั่งรถครั้งต่อ ๆ ไปก็อาจแย่ลงและยากลำบากมากขึ้น เพราะแมวมีภาพจำที่ไม่ดีกับการนั่งรถ

การช่วยน้องแมวเตรียมตัวด้วยการฝึกฝนก่อนจะทำให้แมวคุ้นเคย มีประสบการณ์ที่ดีกับการนั่งรถ รู้สึกว่าการนั่งรถไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ไม่ได้มีอันตราย หรือทำให้พวกเขาสูญเสียอาณาเขตไป

ขั้นตอนมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย !

ขั้นตอนการ ฝึกแมวนั่งรถ

1. สร้างความคุ้นเคยกับตะกร้าหรือกระเป๋าใส่แมวก่อน

มาทำให้กระเป๋า-ตะกร้าใส่แมว เป็นสถานที่ปลอดภัยของน้องแมวกันเถอะ!

การทำให้แมวคุ้นเคยกับกระเป๋าของเขาจะทำให้แมวเกิดความรู้สึกสบายใจ-ปลอดภัยเวลานั่งรถมากขึ้น ทำให้เจ้าของจัดการกับแมวได้ง่าย เพิ่มความปลอดภัยระหว่างการเดินทางมากขึ้นอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม : 8 เทคนิค ทำให้แมวคุ้นเคยกระเป๋า

2. สร้างความคุ้นเคยในรถ

การพาแมวสำรวจรถก่อนออกเดินทางจริง นอกจากจะช่วยทำให้แมวคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมในรถแล้ว ยังช่วยให้แมวผ่อนคลายมากขึ้น -รับมือกับการเดินทางได้ดียิ่งขึ้น แมวจะทำความคุ้นเคยหรือสร้างอาณาเขตด้วยการทิ้งกลิ่นของตนเองเอาไว้ หากมีกลิ่นของเขาในรถเขาจะรู้สึกอุ่นใจและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

    1. พาแมวมาสำรวจภายในรถ ให้แมวได้ดม เดินทั่ว ๆ และทิ้งกลิ่นของตัวเองเอาไว้ทั่วรถ โดยที่ยังไม่ติดเครื่องยนต์ เพื่อลดสิ่งเร้าที่จะกระตุ้นให้แมวเกิดความกลัวได้
    2. นำของเล่นชิ้นโปรดออกมา จากนั้นชวนแมวเล่นของเล่นในรถ เพื่อสร้างประสบการณ์ด้านบวกให้แมวจดจำได้ดี ทำให้แมวผ่อนคลาย สนับสนุนให้แมวได้ปลดปล่อยตามสัญชาตญาณ แมวจะรู้สึกว่าที่แห่งนี้ก็ไม่ได้เลวร้าย และนี่เป็นที่ของเขาจริง ๆ 
    3. นำเอาของใช้ส่วนตัวของแมวขึ้นไปไว้บนรถด้วย ไม่ว่าจะเป็น ที่นอน ผ้า ตุ๊กตา หรือแม้แต่ที่ลับเล็บ การวางของใช้ที่แมวคุ้นเคยและมีกลิ่นของเขาเอาไว้จะช่วยให้แมวรู้สึกสบายใจ ผ่อนคลาย และรู้สึกว่านี่คืออาณาเขตของเขามากขึ้น
    4. ให้ขนมสุดโปรดภายในรถ เพื่อสร้างความทรงจำ-ประสบการณ์ที่ดีให้กับแมว
    5. ทำการฝึกนี้สั้น ๆ วันละ 5 นาที หลังทำเสร็จก็อย่าลืมให้ขนมหรืออาหารเป็นรางวัลด้วยนะ!

ควรทำซ้ำ ๆ หลาย ๆ ครั้ง จนกระทั่งแมวดูคุ้นเคยกับภายในรถ สบายใจ และผ่อนคลายมากขึ้น แมวแต่ละตัวใช้เวลาในการทำความคุ้นเคยไม่เท่ากัน บางตัวอาจใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 วัน แต่แมวบางตัวอาจใช้เวลานานถึงสัปดาห์หรือเดือนเลยทีเดียว เจ้าของควรเตรียมตัววางแผนล่วงหน้าและเตรียมตัว ฝึกแมวนั่งรถ ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากแมวคุ้นชินกับรถแล้วจึงค่อยทำขั้นตอนต่อไป

3. ก่อนออกรถ

แมวจำนวนไม่น้อยที่กลัวเสียงติดเครื่องยนต์ ทั้งเป็นเสียงที่ดัง มีความสั่นกังวาล และน่ากลัวคล้ายเสียงจุดระเบิด การทำให้แมวคุ้นชินกับเสียงนี้ก่อนจะต้องเดินทางจริงจะช่วยลดความวิตกกังวลและความเครียดได้มาก

    • ในช่วงแรกให้ลองพาแมวขึ้นรถที่ถูกติดเครื่องยนต์ไว้อยู่แล้วก่อน ไม่ควรติดเครื่องยนต์ขณะที่แมวอยู่ในรถ เพราะอาจทำให้แมวเกิดความหวาดกลัว และมีประสบการณ์ไม่ดีได้
    • หลังจากที่แมวเริ่มชินกับเสียงเครื่องยนต์แล้ว ลองให้ขนมขณะทำการติดเครื่องยนต์
    • เปิดเพลงขณะทำการติดเครื่องยนต์

4. ขณะนั่งรถ

    • ควรเริ่ม ฝึกแมวนั่งรถ จากระยะทางใกล้ ๆ ก่อน ไม่ควรรีบร้อนพาแมวเดินทางไกลตั้งแต่ครั้งแรก เริ่มฝึกจากการขับรถด้วยความเร็วต่ำ เคลื่อนที่ไปช้า ๆ ไม่เปลี่ยนความเร็วขณะเคลื่อนที่มากนัก และเลือกสถานที่ที่เงียบสงบ ไม่พลุกพล่าน หรือเป็นถนนที่มีรถอื่นวิ่งมากจนเกินไป
    • ชม และให้ขนมเป็นรางวัลแมวเป็นช่วง ๆ ขณะที่นั่งอยู่ในรถ
    • ชวนแมวดูสิ่งเร้าภายนอกด้วยการสร้างสิ่งเร้าเชิงบวก เช่น ใช้ของเล่นช่วยนำทาง ใช้ขนมหลอกล่อ ชี้ให้แมวดูนกหรือต้นไม้ที่เขาคุ้นเคย
    • เปิดเพลงคลอเบา ๆ ในรถ เพลงจำพวกดนตรีบรรเลงคลาสสิคจะช่วยให้แมวสงบและผ่อนคลายมากขึ้น
    • คอยใช้โทนเสียงนุ่มนวลพูดคุยกับแมวอยู่เรื่อย ๆ ตลอดการนั่งรถ เพื่อให้แมวผ่อนคลายและอุ่นใจ
    • คอยสังเกตปฏิกิริยาของแมวขณะที่นั่งรถ หากเริ่มมีความกระวนกระวาย มีสัญญาณความเครียดเกิดขึ้น ให้จบการฝึกแล้วพาน้องแมวกลับบ้านก่อน ไม่ควรฝึนแมวให้ทำต่อ เนื่องจากจะทำให้แมวเครียดแล้วกลายเป็นประสบการณ์ด้านลบแทนที่จะเป็นประสบการณ์ดี ๆ ที่น่าจดจำ
    • ควรเริ่มฝึกจากระยะเวลาสั้น ๆ ก่อน เช่น ครั้งแรกไม่เกิน 10 นาที เมื่อแมวทำได้ดี ในครั้งต่อไปจึงค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาการฝึกให้มากขึ้นทีละนิด

5. ก่อนจบกิจกรรม

ก่อนจบกิจกรรมทุกครั้ง ควรกล่าวชมด้วยคำชมที่ใช้ประจำเพื่อให้แมวจดจำคำชมได้ และให้รางวัลแมวด้วย เพราะแมวเป็นสัตว์ที่เรียนรู้จากการเชื่อมโยงเชิงบวก (Positive Reinforcement) นั่นคือการใช้ของที่แมวชอบ เพื่อกระตุ้นหรือเหนี่ยวนำให้แมวทำพฤติกรรมที่เหมาะสมซ้ำอีกครั้งนั่นเอง

หากเป็นแมวที่ชอบการสัมผัส สามารถใช้การเกา-ลูบในบริเวณที่แมวชอบเป็นรางวัลได้ หรือหากแมวชอบกินขนมก็สามารถใช้ขนมได้เช่นกัน

6. ขึ้นรถ...ไม่ได้แปลว่าไปหาหมอ

หากแมวนั่งรถทุกครั้งคือการพาไปหาหมอ แมวจะเรียนรู้ว่าการนั่งรถจะตามมาด้วยความเจ็บปวดหรือความหวาดกลัว แมวจะจดจำและกลับมาเกลียดการนั่งรถอีก ดังนั้นการพาแมวนั่งรถเล่นเป็นระยะ ๆ บ้างแม้จะไม่มีกิจให้ต้องพาแมวไปที่ไหน จะช่วยทำให้แมวเรียนรู้ว่าการนั่งรถไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไป

แมวนั่งรถ

การนั่งรถไม่ใช่ประสบการณ์เลวร้ายสำหรับแมวเสมอไป 

การเดินทางไกล

การเดินทางไกลเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ชั่วโมงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับทั่งแมวและเจ้าของมาก จึงมีการเตีรยมตัวที่จะต้องจัดการมากขึ้น

    • ควรเตรียมน้ำ อาหาร และกระบะทรายพกพาได้ในรถด้วย ตำแหน่งที่เหมาะสมในการวางกระบะทรายคือบริเวณที่วางเท้าด้านหลัง เพราะเป็นตำแหน่งที่นิ่งที่สุดภายในรถ
    • อาจจอดแวะพักทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้แมวได้พักเข้ากระบะทราย กินน้ำ กินขนม และชวนแมวเล่นคลายเครียด ทำให้แมวผ่อนคลายมากขึ้น
    • ควรเตรียมประวัติโรคประจำตัว และสมุดวัคซีนของแมวไปด้วย เผื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น

ข้อควรระวัง

    • เพื่อความปลอดภัย ควรให้แมวอยู่ในกรง กระเป๋า หรือเบาะนั่งสำหรับแมวตลอดการเดินทาง
    • ควรใส่ที่รัดอก (Harness) ไว้ ตลอดเวลาขณะนั่งรถ ล็อคสายเข้ากับตัวล็อคของกรงทุกครั้ง เพื่อไม่ให้แมวเดินไปทั่วรถขณะที่เจ้าของกำลังขับรถอยู่
    • ใส่เครื่องติดตามจำพวก GPS หรือจี้ห้อยคอที่ระบุช่องทางการติดต่อเจ้าของ เพื่อป้องกันกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น แมวหลุดหาย ประตูรถปิดไม่สนิท หรือแม้แต่มีกรณีรถชนทำให้กระจกหรือประตูเสียหายจนแมวตกใจและหนีออกไป การใส่เครื่องติดตามจำพวกนี้ก็จะช่วยให้เจ้าของตามหาแมวจนเจอ หรือหากมีคนพบแมวก็จะสามารถส่งคืนแมวได้
    • ไม่ควรปล่อยให้แมวเดินไปมาในรถ โดยเฉพาะเวลามีคนขับรถคนเดียว อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ และอาจก่อความเดือดร้อนต่อผู้ใช้รถใช้ถนนท่านอื่นอีกด้วย
    • ก่อนจะเปิดหน้าต่าง-ประตูรถทุกครั้ง ควรเช็คซ้ำอีกครั้งว่ากรงที่แมวอยู่ปิดสนิทดี แมวยังอยู่ในกรง เพื่อป้องกันการหลุดหาย
    • ควรขับรถช้า ๆ หลีกเลี่ยงการเพิ่มความเร็วที่รวดเร็วจนเกินไป เสียงเร่งเครื่องยนต์จะทำให้แมวตกใจและตื่นกลัวได้ง่าย

อุปกรณ์เสริม...ตัวช่วย!

สิ่งของเหล่านี้อาจเป็นตัวช่วยทำให้แมวผ่อนคลายและลดความเครียดได้ แต่จะได้ผลกับแมวบางตัวเท่านั้น ควรลองหลาย ๆ แบบและสังเกตความชอบของแมวเรา

    • แคทนิปแมว/กัญชาแมว
    • มาทาทาบิ
    • ปลอกคอลดความเครียด
    • ฟีโรโมนแมว Feliway
    • เปิดเพลงดนตรีบรรเลงคลาสสิคระหว่างการนั่งรถ
    • ใช้ Thundershirt เป็นเสื้อพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อให้โอบอุ้มรอบตัวแมวอย่างพอดีและไม่ขัดขวางการเคลื่อนไหว ทำให้แมวอุ่นใจ รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น (ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย)

สรุป

    การนั่งรถครั้งแรกอาจเป็นประสบการณ์ที่ดีหรือเลวร้ายสำหรับแมวก็ได้ ซึ่งอาจทำให้แมวเกิดความเครียดได้มากจนอาจเป็นอันตรายกับสภาวะร่างกายได้ แต่หากเจ้าของมีการเตรียมตัว ค่อย ๆ ฝึกแมวนั่งรถ ทั้งขั้นตอนการเตรียมความคุ้นเคยกับกระเป่าใส่แมว การพาแมวทำความคุ้นเคยกับรถ  ตลอดจนการสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับแมวขณะนั่งรถ จะช่วยให้แมวมีประสบการณ์ที่ดี ไม่หวาดกลัว ไม่จดจำว่าการขึ้นรถคือการไปพบหมอ ก็จะทำให้การนั่งรถเป็นเพียงแค่เรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตของแมวเท่านั้น ทั้งนี้เจ้าของก็ควรหมั่นสำรวจความปลอดภัยของแมวสม่ำเสมอทุกครั้งของการนั่งรถ

” สนใจเข้าพักกับ โรงแรมแมว ของเราอยู่หรือเปล่า !? “

© All Rights Reserved.

เตรียมตัวก่อนฝากเลี้ยงแมว: การเลือกโรงแรมแมว

   ขั้นตอนแรกของการ เตรียมตัวก่อนฝากเลี้ยงแมว นั่นคือ การเลือกโรงแรมแมว ที่เหมาะสมให้กับน้องแมวของเรานั่นเอง หากเราเลือกโรงแรมแมวที่ได้มาตรฐาน มีข้อกำหนดที่เข้มงวด มีความน่าเชื่อถือ และเข้าใจธรรมชาติของแมว ก็จะทำให้เจ้าของสามารถวางใจ ฝากน้องแมวให้ดูแล และทำธุระได้อย่างสบายใจ

การเลือกโรงแรมแมว

การเลือกโรงแรมแมว ที่ดี สำคัญอย่างไร

    ประสบการณ์ครั้งแรกของการพักโรงแรมแมวนั้นมีความสำคัญมาก หาก การเลือกโรงแรมแมว ที่ไม่เหมาะสม-แมวมีประสบการณ์ครั้งแรกไม่ดี อาจทำให้เกิดภาพจำฝังใจที่ไม่ดี และส่งผลต่อบุคลิกภาพ สุขภาพจิต รวมถึงความสามารถในการปรับตัวของแมวซึ่งมีผลต่อเนื่องในระยะยาว นอกจากนี้หากแมวมีความเครียดสะสมมาก อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย ทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายอีกด้วย

   เราจึงรวบรวม 10 ข้อแนวทาง การเลือกโรงแรมแมว มาฝากกัน เพื่อที่จะลดความเสี่ยง เลือกสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับน้องแมวของเรา

10 ข้อ แนวทาง การเลือกโรงแรมแมว

1. ความสะอาด

      • ห้องพัก พื้นที่ส่วนกลาง บริเวณโดยรอบสะอาด ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีคราบแมวสเปรย์
      • มีมาตรการทำความสะอาดห้องทั้งก่อนและหลังเข้าพัก เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่ปลอดภัยกับสัตว์เลี้ยง เพื่อความปลอดภัยของแมว
      • หากมีโอกาสได้เห็นขณะที่มีการทำความสะอาดก็จะยิ่งช่วยให้มั่นใจมากขึ้น
      • ดูแลความสะอาดของน้องแมวที่เข้าพัก
      • ทำความสะอาดกระบะทรายอย่างน้อยเช้าและเย็น
      • ล้างชามน้ำชามอาหารอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพราะชามน้ำและอาหารที่ปนเปื้อนน้ำลายของแมวแล้วจะมีเชื้อโรคเติบโตได้ง่าย และยังอาจทำให้เกิดไบโอฟิล์มได้อีกด้วย
      • วางชามน้ำและอาหาร แยกจากกระบะทราย เพื่อสุขอนามัยที่ดี

2. มาตรการการรับน้องแมวเข้าพัก

      • มีการเช็คประวัติแมวก่อนเข้าพัก ทั้งโรคประจำตัว วัคซีน ยาถ่ายพยาธิ และยาหยอดป้องกันเห็บหมัด ควรได้รับสม่ำเสมอตามเกณฑ์
      • มีการตรวจร่างกายแมวทุกตัวก่อนเข้าพัก เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้มีโรคติดต่อ หรือปรสิตรที่อาจแพร่เชื้อได้

3. สภาพแวดล้อม

      • มีที่ปีนป่าย คอนโด หรือที่สูง เพื่อให้สามารถตอบสนองสัญชาตญาณความเป็นแมวได้
      • ไม่มีซอกหลืบมุมอับที่น้องอาจเข้าไปติดได้
      • อากาศหมุนเวียนดี ไม่อับ ไม่ร้อน
      • มีหน้าต่าง แสงส่องถึง หากมีส่วนที่น้องจะสามารถชมวิวผ่อนคลายได้ก็จะดีมาก ๆ

4. นำของจากบ้านไปได้

    การมีของใช้-ของเล่นประจำที่คุ้นเคยจากบ้านมาด้วย จะช่วยให้น้องแมวปรับตัวได้ไวขึ้น รู้สึกปลอดภัย มีความมั่นใจ สนับสนุนความเป็นแมวของเขาได้ดียิ่งขึ้น

ของที่แนะนำให้เตรียมไปเอง

1) กระบะทรายและทรายที่กำลังใช้อยู่

   ทรายแมวเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้แมวรู้สึกคุ้นเคยและสร้างความปลอดภัย เพราะการขับถ่ายทั้งการปัสสาวะและอุจจาระล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างอาณาเขตของแมวทั้งสิ้น หากแมวไม่คุ้นเคยและไม่ยอมใช้กระบะทราย อาจนำมาสู่โรคทางเดินปัสสาวะได้

2) อาหารที่น้องทานประจำ

   ระบบทางเดินอาหารของแมวอ่อนไหวง่ายมาก หากเปลี่ยนอาหารกระทันหันอาจทำให้แมวมีระบบการย่อยที่แปนปรวน จนอาจทำให้มีอาการอาเจียน หรือถ่ายเหลวได้ง่าย

3) ที่ลับเล็บ

   นอกจากการลับเล็บจะช่วยตกแต่งและรักษาความคมของเล็บน้องแมวแล้ว ที่บริเวณอุ้งเท้าแมวมีต่อมสร้างกลิ่นกระจายตัวอยู่ การลับเล็บจึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่สำคัญของการสร้างอาณาเขต หากมีที่ลับเล็บที่มีกลิ่นเดิมของเขาติดอยู่ น้องแมวก็จะมีความรู้สึกอุ่นใจ และรู้สึกว่าที่แห่งนี้คือที่ของเขาได้มากขึ้น

4) ที่นอน/ที่ซ่อนต้ว

   การมีที่ซ่อนตัวที่แมวคุ้นเคย จะช่วยให้แมวรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะแมวที่มีลักษณะนิสัยขี้กลัวหรือเก็บตัวเมื่อเจอสถานการณ์แปลกใหม่ จะช่วยให้แมวเสริมสร้างความมั่นใจให้ตัวเองได้ไวยิ่งขึ้น อาจใช้เป็นผ้าที่แมวนอนประจำ หรือตระกร้า/กระเป๋าที่ใส่แมวไปก็ได้เช่นกัน ฉะนั้นการเตรียมตัวทำให้แมวคุ้นเคยกับสิ่งของเหล่านี้ก่อนจะต้องย้ายสถานที่จึงมีความสำคัญมาก

5) ของเล่น ตุ๊กตา ผ้าที่แมวชอบ หรือแม้แต่เสื้อผ้าเก่าที่ผ่านการใส่แล้วของเจ้าของ

   สิ่งของที่แมวคุ้นเคย มีกลิ่นของตัวเอง หรือแม้แต่มีกลิ่นของเจ้าของที่เขารักอยู่ จะช่วยให้แมวรู้สึกผ่อนคลาย สงบจิตใจ เปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ ได้มากยิ่งขึ้น

เตรียมของไป โรงแรมแมว

การเตรียมของใช้ส่วนตัวของน้องแมวมาจำนวนมากจะช่วยให้แมวปรับตัวได้เร็วขึ้นมาก ๆ เลยนะ

5. เจ้าของสามารถรับส่งแมวถึงห้องพักได้

   การที่เจ้าของไปส่งน้องถึงห้องพักได้ สามารถนั่งเล่น-ให้ขนม ชวนน้องแมวสำรวจห้องไปพร้อม ๆ กัน จะช่วยให้แมวรู้สึกวางใจ อุ่นใจที่แม้จะแปลกสถานที่แต่ก็ยังมีเจ้าของที่คุ้นเคยอยู่ด้วย ทำให้แมวปรับตัวได้ไวขึ้นมาก และเจ้าของยังสามารถใช้ขนมหรือของเล่น เพื่อชวนให้น้องแมวทำความรู้จักกับพี่เลี้ยงได้อีกด้วย

    นอกจากนี้ยังทำให้เจ้าของได้เห็นความเป็นอยู่ และสภาพห้องพักจริง ดูสภาพแวดล้อมของแมวตัวอื่นที่อยู่มาก่อน การดูแลสถานที่โดยรวม ก็ช่วยให้มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

6. การบริการ

    นอกจากโรงแรมควรจะให้บริการน้องแมวที่เข้าพักได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็ควรให้บริการเจ้าของได้ดีด้วยเช่นกัน มีการอัพเดทน้องแมวในแต่ละวันด้วยความเต็มใจ ไม่ต้องรอให้ทวงถาม

    หากไปฝากแมวแล้วจะต้องมานั่งห่วงหน้าพะวงหลัง… อยากจะถามถึงน้องแมวแต่ก็ไม่กล้า ก็ทำให้บั่นทอนจิตใจ สร้างความกังวลให้กับเจ้าของเป็นอย่างมาก

7. เดินทางสะดวก

    หากเป็นสถานที่ที่เดินทางสะดวก อยู่ใกล้บ้าน ก็สามารถมาเยี่ยมชมห้องพัก-สถานที่จริงก่อนเข้าพักได้ เพื่อดูบรรยากาศสถานที่จริง การบริการ การดูแลน้องแมวที่กำลังเข้าพักอยู่ รวมถึงความเข้มงวดของการคัดกรอง/การรักษาความสะอาดต่าง ๆ ได้ด้วย

   นอกจากนี้ การเลือกโรงแรมแมว ที่ใกล้บ้านก็ทำให้แมวไม่ต้องนั่งรถนาน ๆ ช่วยลดความเครียดน้องแมวที่ไม่คุ้นเคยกับการเดินทางเป็นระยะเวลานานได้

8. ใส่ใจความปลอดภัย

   ความปลอดภัยเป็นรื่องสำคัญมาก คงไม่มีเจ้าของคนไหนอยากจะกังวลว่าแมวจะหลุดหาย หรือได้รับบาดเจ็บจากการเข้าพักโรงแรมแมวใช่ไหม?

    • หน้าต่าง-ประตู-การกั้นแยกห้อง แน่นหนา มิดชิดื และมีกลอนแยกแต่ละห้องพักชัดเจน
    • มีกล้องวงจรปิด 24 ชั่วโมง
    • มีการตรวจสอบ-เช็คเจ้าของน้องแมวก่อนส่งตัวกลับ เพื่อกันการสลับตัวแมว
ความปลอดภัยของ โรงแรมแมว

หน้าต่างโรงแรมแมวของเรามีตัวล็อคถึง 3 ชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้น้องแมวสามารถเปิดได้ แม้จะเป็นแมวซุกซนและแสนรู้ก็ตาม

9. ความเข้าใจแมวของพี่เลี้ยง

    พี่เลี้ยงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะทำให้แมวสบายใจหรือไม่สบายใจ ปรับตัวได้ช้าหรือเร็ว การกระทำและการดูแลของพี่เลี้ยงส่งผลอย่างมาก

คุณสมบัติพี่เลี้ยงที่ดี

    • เข้าใจธรรมชาติของแมว ไม่รีบไล่จับ ไม่กอด ไม่อุ้มแมวโดยที่แมวไม่เต็มใจ
    • ทำความเข้าใจนิสัยที่ต่างกันของแมวแต่ละตัว
    • ถามความต้องการพิเศษและข้อกังวลของเจ้าของ
    • เล่นกับแมวเป็น เอ็นเตอร์เทนแมวได้!

10. การรับมือเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน

    โรงแรมควรมีมาตรการเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุฉุกเฉินกับน้องแมว เช่น

    • หากแมวเจ็บป่วยกระทันหันจะมีขั้นตอนจัดการอย่างไรบ้าง
    • มีรพส.หรือคลินิกเครือข่ายที่พร้อมส่งตัวรักษาไหม

    เจ้าของควรสอบถามกับทางโรงแรมให้เรียบร้อยก่อนพิจารณา การเลือกโรงแรมแมว หรือบริการรับฝากแมว เพราะเหตุไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้…แม้จะไม่มีใครอยากให้เกิดก็ตาม

สรุป

   การเลือกโรงแรมแมว ที่เหมาะสม เข้าใจ ใส่ใจ และตระหนักถึงความแตกต่างของนิสัยน้องแมวแต่ละตัวแล้ว ก็จะทำให้ลดความเสี่ยงทั้งหลายลงได้เป็นอย่างมาก เจ้าของจึงควรให้ความสำคัญทั้งในแง่ความสะอาด ความปลอดภัย การดูแล นโยบาย-การจัดการของโรงแรม และความเข้าใจของพี่เลี้ยง ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะส่งผลต่อการปรับตัวและสภาพจิตใจของแมว

” สนใจเข้าพักกับ โรงแรมแมว ของเราอยู่หรือเปล่า !? “

© All Rights Reserved.

เตรียมตัวก่อนฝากเลี้ยงแมว : การเตรียมตัวและขั้นตอนเมื่อถึง โรงแรมแมว

   การ เตรียมตัวก่อนฝากเลี้ยงแมว เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการฝากเลี้ยง หรือ การพาแมวเข้าพัก โรงแรมแมว ถือเป็นการพาแมวย้ายถิ่นฐาน-ออกจากอาณาเขตเดิมที่คุ้นเคย ย่อมทำให้แมวเกิดความรู้สึกกังวล หวาดระแวง และรู้สึกไม่ปลอดภัยเป็นธรรมดา การ เตรียมตัวก่อนฝากเลี้ยงแมว การเลือกโรงแรมแมวที่เหมาะสม ไปจนถึงวิธีที่แนะนำน้องแมวเข้ากับสถานที่ใหม่อย่างโรงแรมแมว จะช่วยให้แมวรู้สึกปลอดภัย สบายใจ และปรับตัวเข้ากับพี่เลี้ยงและสถานที่ใหม่ได้ดียิ่งขึ้น

เตรียมตัวฝากเลี้ยงแมว

   แมวเป็นสัตว์ที่รับบทบาทเป็นทั้งนักล่าและผู้ถูกล่าของห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติ แมวจึงเป็นสัตว์ที่มีความระมัดระวังตัว ไม่ไว้ใจสิ่งใดง่าย ๆ มีความระแวงสูงมาก เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง แมวออกล่าเหยื่อเพียงลำพัง พวกมันจึงต้องมีอาณาเขตของตัวเองอย่างชัดเจน

จากแมวป่าสู่แมวบ้าน…แมวไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยแม้แต่น้อย

   พวกมันยังคงมีสัญชาตญาณเมื่อครั้งยังเป็นสัตว์ป่าอยู่อย่างครบถ้วน เมื่อเราทำความเข้าใจธรรมชาติของแมว เราจึงจะสามารถนำมาประยุกต์และปรับใช้ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของแมวตามล้อไปกับวิถีที่ธรรมชาติสร้างแมวขึ้นมานั่นเอง

เตรียมตัวก่อนฝากเลี้ยงแมว ...ก่อนพาน้องไปโรงแรม

1. เตรียมทักษะที่สำคัญ

1) ฝึกแมวให้ชินกับตะกร้าหรือกระเป๋าที่ใช้ใส่น้องแมวเสียก่อน

สถานการณ์แมวกลัวตะกร้าหรือกระเป๋าที่ใส่ เป็นปราการด่านทดสอบแรกที่มักจะเป็นอุปสรรคต่อการ เตรียมตัวก่อนฝากเลี้ยงแมว เรียกได้ว่ายังไม่ทันจะได้ทำอะไรก็ตกม้าตายแรกแล้วล่ะ !

แมวเป็นสัตว์ที่จับสัมผัสของอารมณ์เจ้าของ และอ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างดีเยี่ยม เพียงแค่มนุษย์เริ่มเก็บข้าวของเตรียมตัว…แมวก็เริ่มรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงและเริ่มเกิดความระวังตัว

หากแมวไม่เคยชินกับตะกร้า หรือมีแต่ประสบการณ์แย่ ๆ กับตะกร้าของตัวเอง เช่น เห็นหรือเข้าตระกร้าทีไรต้องไปหาหมอเจ็บตัวทุกครั้ง แมวจะเกิดความเครียดได้ง่ายตั้งแต่เจ้าของเริ่มเตรียมของหรือหยิบตะกร้าขึ้นมาแล้ว นอกจานนี้แมวที่มีประสบการณ์ไม่ดีก็มักจะไม่ยอมเข้าตะกร้าเอง อาจหนีไปแอบ หรือวิ่งหนีทั่วบ้าน สร้างความลำบากให้ทั้งคนและแมว และการวิ่งไล่จับแมวเข้าตะกร้าก็ยิ่งทำให้แมวรู้สึกไม่ปลอดภัย และเครียดมากขึ้นอีกด้วย

การทำให้ตะกร้า/กระเป๋าแมวเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่แสนจะปลอดภัย เป็นที่นอน หรือเป็นหลุมหลบภัย ให้เหมือนเป็นบ้านหลังที่ 2 ของน้องแมวก็จะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้มากเลยทีเดียว ทำให้แมวยินยอมเข้าตะกร้าอย่างว่าง่าย ช่วยให้แมวไม่เครียดกับการอยู่ภายในตะกร้าตั้งแต่เริ่มต้นการเดินทาง และยังอาจนำตะกร้าไปวางไว้ในห้องพัก เพื่อเป็นที่ซ่อนตัวสุดจะอุ่นใจในห้องพักของโรงแรมแมวที่แสนจะแปลกใหม่นี้ได้อีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้แมวมีความมั่นใจ ปรับตัวเข้ากับสถานที่ และเปิดใจให้กับพี่เลี้ยงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

การนั่งรถอาจเป็นฝันร้ายของทั้งน้องแมวและเจ้าของได้ น้องแมวที่ไม่คุ้นชินกับการนั่งรถมาก่อน มักจะตกใจกับเสียงเครื่องยนต์ เสียงล้อเคลื่อนที่บนถนน ความเร็วของการเคลื่อนที่ที่เปลี่ยนแปลงกระทันหัน และยังมีสิ่งเร้าอื่น ๆ ที่มองเห็นทางหน้าต่างมากจนเกินไป รวมถึงในรถเป็นสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย ไม่ใช่อาณาเขตเดิมที่แมวรู้สึกปลอดภัย

แมวที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน การนั่งรถอาจทำให้เกิดความเครียดตั้งแต่พาขึ้นรถ มีอาการกระวนกระวาย เดินไปมาหรือวิ่งวุ่น ส่งเสียงร้องตลอดทาง หอบเหนื่อย หรืออาจเครียดจนช็อคได้

ยิ่งแมวมีความเครียดสะสมมาก ก็ยิ่งทำให้แมวตื่นกลัว และปรับตัวกับสถานที่แปลกใหม่ได้ยากมากขึ้น เมื่อมาถึงโรงแรม แมวก็จะมีประสบการณ์ไม่ดี ทำให้ไม่เปิดใจรับคนหรือสถานที่ใหม่ และตกอยู่ในความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากอาณาเขตที่ถูกทำลายลง

ดังนั้นการเตรียมพร้อมให้แมวคุ้นเคยกับการนั่งรถจึงเป็นทักษะที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้แมวพร้อมรับมือกับการย้ายสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายบ้าน หรือแม้แต่การเดินทางมาฝากโรงแรมชั่วคราวก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม : ฝึกแมวนั่งรถ อย่างไรให้แมวไม่เครียด

2. เตรียมของใช้ให้พร้อม

แนะนำให้นำของใช้ส่วนตัวของน้องแมวจากที่บ้านไปเยอะ ๆ ยิ่งเยอะยิ่งดี! ทำให้น้องรู้สึกคุ้นเคย รู้สึกปลอดภัย มั่นใจกับสถานที่ใหม่ สนับสนุนการสร้างอาณาเขตใหม่ของเขามากขึ้น 

Check list สิ่งของแนะนำ

✔ ที่นอน                     ✔ ของเล่น ตุ๊กตา ผ้าที่น้องติด

✔ อาหารที่กินประจำ.          ✔ กระบะทรายที่มีทรายเดิมของน้องอยู่

✔ ขนมที่น้องชอบมาก ๆ       ✔ ตะกร้าหรือกระเป๋าที่น้องแมวคุ้นเคย

✔ สมุดวัคซีน บันทึกการหยดยาป้องกันปรสิต และการถ่ายพยาธิ

✔ อุปกรณ์ช่วยคลายเครียดตามความชอบของน้อง เช่น กัญชาแมว แคทนิป มาทาทาบิ หรือฟีโรโมนแมว

แมวใน โรงแรมแมว

เมื่อไปถึงโรงแรม

1. ไปส่งน้องแมวถึงห้องพักส่วนตัว

การที่น้องแมวเจอสถานที่หรือกลิ่นแปลกใหม่ หากมีเจ้าของอยู่ด้วยจะช่วยให้น้องแมวสบายใจ กล้าที่จะสำรวจ และรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นกว่าการไม่มีเจ้าของอยู่ด้วยมาก ๆ 

2. จัดวางของใช้ที่เตรียมมาให้เรียบร้อย

⦿ วางที่นอน จัดมุมสงบให้น้องอยู่ โดยไม่ให้ใกล้ประตูมากจนเกินไป

⦿ กระจายของใช้ ที่ลับเล็บ และของเล่นให้ทั่วบริเวณห้อง

⦿ หากน้องแอบซ่อนตัว ให้วางของเล่น ผ้า หรือตุ๊กตาตัวโปรดของน้องในจุดที่น้องไปแอบซ่อนตัวก่อน

พี่เลี้ยงจะช่วยจัดของใช้ต่าง ๆ และวางชามอาหาร-น้ำ-กระบะทรายแยกกัน เพื่อสุขอนามัยที่ดีด้วยนะ♡

3. นัดแนะกับพี่เลี้ยง

พี่เลี้ยงมีส่วนสำคัญมากในการทำให้แมวของเรารู้สึกสบายใจและปรับตัวได้ง่ายขึ้น พี่เลี้ยงที่ดีควรเข้าใจธรรมชาติของแมว สามารถตอบสนองต่อสัญชาตญาณ รู้จักสังเกตและอ่านภาษากายของแมวได้เป็นอย่างดี และปรับเปลี่ยนการดูแลแมวไปตามลักษณะนิสัยของแมวแต่ละตัว

แนะนำตัวน้องแมวกับพี่เลี้ยง อธิบายอุปนิสัยและความชอบของน้องแต่ละตัวอย่างละเอียด ทั้งจุดที่แมวชอบและไม่ชอบให้สัมผัส ของเล่น-สไตล์การเล่นที่แมวชอบ สิ่งที่แมวเกลียด เพื่อให้พี่เลี้ยงสามารถเข้าใจ สร้างประสบการณ์ที่ดี และดูแลแมวได้อย่างดีที่สุด

4. ป้อนขนมสุดโปรด!

ป้อนขนมที่น้องแมวชอบ เพื่อให้เกิดความรู้สึกดีกับสถานที่ใหม่ เสริมสร้างความมั่นใจ ช่วยผ่อนคลาย และช่วยปรับตัวได้ง่ายขึ้น โดยเริ่มจากให้เจ้าของป้อนขนมแมวก่อน จนท่าทีของแมวผ่อนคลายขึ้น จากนั้นนำขนมให้พี่เลี้ยงป้อนด้วย จะช่วยให้น้องแมวเชื่อใจและเปิดใจให้พี่เลี้ยงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

แต่หากน้องแมวไม่ยอมกินขนมก็ไม่ต้องแปลกใจ เป็นปฎิกิริยาปกติสุด ๆ สำหรับแมวขี้กลัวที่ยังระแวงอยู่นั่นเอง ให้เวลาแมวปรับตัวจนรู้สึกปลอดภัยขึ้นก็จะยอมกินได้เอง!

5. ให้อาหารเปียก หรืออาหารที่น้องชอบสุด ๆ

หากแมวยังไม่ได้กินอาหารมาแล้วล่ะก็…การให้อาหารสุดโปรดในตอนนี้คือช่วงเวลาที่เหมาะสมเลยล่ะ! อิ่ม อร่อย สบายใจ 🙂

6. นำของเล่นมาชวนแมวเล่น

การเล่นเป็นการตอบสนองสัญชาตญาณการล่าเหยื่อของแมว จะทำให้แมวเกิดความรู้สึกมั่นใจมากขึ้น แต่หากแมวยังไม่ยอมเล่นก็ไม่ต้องแปลกใจไป เพียงแค่เราพยายามชวนเขาเล่นด้วยความรู้สึกด้านบวก แมวก็จะผ่อนคลายขึ้นแล้ว

หากเจ้าของไม่มั่นใจเรื่องการฝากเลี้ยง หรือมีแผนที่จะฝากน้องเป็นเวลาหลายวัน เราขอแนะนำให้ทดลองฝากเลี้ยงระยะสั้น ๆ ไม่เกิน 3 วันดูก่อน เพื่อเป็นการฝึกฝนและเตรียมพร้อมน้องแมวให้คุ้นชินสถานที่-พี่เลี้ยง ก่อนที่จะต้องทำการฝากเป็นเวลานาน

โดยเฉพาะน้องแมวที่ไม่ค่อยได้พบเจอคนแปลกหน้าหรือไม่ค่อยได้ออกนอกบ้าน อาจใช้วิธีฝึกฝากเลี้ยงแล้วเจ้าของคอยแวะมาเยี่ยมทุกวันเพื่อช่วยให้น้องแมวปรับตัวได้ก่อนก็เป็นทางเลือกที่ดี การทดลองฝากเลี้ยงก่อนก็จะช่วยคลายความกังวลให้เจ้าของได้อีกด้วย

สรุป

การ เตรียมตัวก่อนฝากเลี้ยง เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง หากเรามีการเตรียมตัวที่ดี เตรียมข้าวของเครื่องใช้ไปพร้อม ย่อมทำให้แมวสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น มีสภาพจิตใจที่ดี รับมือกับสิ่งแปลกใหม่ได้อย่างมั่นคง และ

เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้น้องแมวปรับตัวกับห้องพักได้มากยิ่งขึ้น …ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเราเอง! ^-^

” สนใจเข้าพักกับ โรงแรมแมว ของเราอยู่หรือเปล่า !? “

© All Rights Reserved.